จุรินทร์ ตอบแล้ว! ปมแมส 200 ล้านชิ้น หมายถึงวัตถุดิบที่สามารถผลิตได้

จุรินทร์ ชี้แจงปมแมส 200 ล้านชิ้นหายไปไหน? เผยหมายถึงวัตถุดิบที่สามารถผลิตได้ไม่ใช่ตัวหน้ากาก

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตอบคำถามสื่อมวลชนเรื่องหน้ากาก ว่า สำหรับหน้ากาก N 95 กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ที่รับผิดชอบในการจัดหาทั้งหมด เพราะถือว่าเป็นเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ใช้สำหรับสถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์เป็นหลักตั้งแต่เริ่มต้น และ ภายหลังจากที่มีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการโควิด-19 ขึ้นมาในสถานการณ์ฉุกเฉิน ศูนย์ฯ ก็จะเป็นผู้ที่ดำเนินการรับผิดชอบ

ภาพจากอีจัน

สำหรับหน้ากากอนามัยในภาพรวมนั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภท ดังนี้

1.หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ คือ หน้ากากสีเขียวหรือสีฟ้าที่มีไส้กรองอยู่ตรงกลางที่เป็นประเด็นปัญหาอยู่ในตลาดปัจจุบันและก่อนหน้านี้

2.หน้ากากทางเลือก มีหลายรูปแบบทั้งรูปแบบที่มีเส้นผ่าต้องกลาง มีปุ่ม หรือจุดต่างๆมีสีสันต่างๆ ซึ่งผลิตในประเทศบางส่วนและนำเข้ามาบางส่วน

3.หน้ากากผ้าซึ่งรัฐบาลส่งเสริมให้ ประชาชนทั่วไปได้ใช้หน้ากากผ้าเป็นหลัก เพราะกระทรวงสาธารณสุขได้ให้การรับรองแล้วว่าสามารถนำมาใช้ป้องกันโควิดได้ในระดับหนึ่ง จะได้ไม่ไปเบียดใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า กำลังการผลิตหน้ากากอนามัยทั้งประเทศ ล้านกว่าชิ้นต่อวัน ขณะนี้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ถึง 2.2 – 2.3 ล้านชิ้นโดยประมาณต่อวัน แต่ก็ยังไม่สามารถสนองความต้องการของประชาชนได้ เพราะหน้ากากอนามัยชนิดนี้ใช้ครั้งเดียวแล้วต้องทิ้งทันทีทำให้ 2.3 ล้านชิ้นนี้ ต้องใช้แล้วทิ้ง แล้วก็ต้องผลิตขึ้นมาใหม่ซึ่งในหนึ่งวัน 2.3 ล้านชิ้น สามารถสนองความต้องการได้แค่ 2 ล้านคนโดยประมาณ แต่คนไทยมี 60 กว่าล้านคน ก็จะมีคนผิดหวัง 60 ล้านคนทุกวัน ที่ไม่สามารถที่จะได้หน้ากากชนิดนี้มาใช้ จึงเป็นประเด็นปัญหาว่าทำไมถึงขาดแคลน

"กำลังการผลิตในประเทศก็มีตัวเลขเท่านี้เป็นข้อจำกัด ในการบริหารจัดการในลักษณะไหนก็ตาม แต่ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาเราได้บริหารจัดการโดยให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้บริหารจัดการ โดยจำนวนหน้ากาก 2 ล้านกว่าชิ้นนั้น จัดให้บุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาลก่อน เพราะถือว่ามีความจำเป็นที่จะต้องใช้ สามารถจัดได้วันละ 1.2 – 1.3 ล้านชิ้น ส่วนที่เหลือกรมการค้าภายในจะกระจายไปยังทั่วประเทศในร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อ

แต่ถัดจากนี้ไปเราเปลี่ยนระบบตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป คือให้กับกระทรวงสาธารณสุข จัดการให้กับโรงพยาบาลทุกระดับ ทั้งภาครัฐและเอกชนยังคงอยู่เหมือนเดิม แต่อีกส่วนที่กรมการค้าภายในบริหารจัดการไปยังร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อนั้น เปลี่ยนไปให้มหาดไทยเป็นผู้บริหาร เนื่องจากว่าปัจจุบันผู้ว่าราชการจังหวัด สังกัดกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้บัญชาการ แก้ปัญหาโควิดในระดับจังหวัด จึงควรมีหน้ากากอนามัยไปบริหารจัดการด้วย

ภาพจากอีจัน

ดังนั้นจากนี้ไปก้อนที่สองที่จากกระทรวงพาณิชย์จะส่งให้กระทรวงมหาดไทยกระจายไปยังทุกจังหวัดโดยตรงเพื่อให้ผู้ว่าฯในพื้นที่สามารถใช้ดุลพินิจได้ว่าจะกระจายไปให้กลุ่มเสี่ยงที่ไหนอย่างไรบ้าง และจะเหลือให้จำหน่ายในร้านไหนอย่างไรบ้าง ตามความเหมาะสม ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการที่รับผิดชอบทั้งจังหวัด จะเริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปภายใต้ข้อจำกัดกำลังการผลิต 2.2 – 2.3 ล้านชิ้นโดยประมาณเช่นเดิม” รมว.พาณิชย์ กล่าว

ส่วนประเด็นที่มีคนพูดเรื่องหน้ากากอนามัย ที่กระทรวงพาณิชย์เคยบอกว่าก่อนรับผิดชอบดูแลมีหน้ากากอนามัยอยู่จำนวน 200,000,000 ชิ้นนั้น และมีคำถามว่า 200,000,000 ชิ้นวันนั้นหายไปไหน นายจุรินทร์ กล่าวว่า…

"ที่เคยให้ข้อมูลมานั้นหมายถึงมีวัตถุดิบ ซึ่งอธิบดีกรมการค้าภายในและปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้เคยชี้แจงไปแล้วว่า หมายถึงวัตถุดิบที่สามารถทำการผลิตหน้ากากอนามัยได้ประมาณ 200,000,000 ชิ้น ซึ่งไม่ได้แปลว่ามีหน้ากากอนามัยกองอยู่ 200,000,000 ชิ้น แล้วหายไป ไม่ใช่อย่างนั้น แต่หมายถึงมีวัตถุดิบที่จะผลิตได้และเมื่อผลิตแล้วก็จะออกไปเข้าสู่ระบบตามปกติ

ภาพจากอีจัน

ในช่วงต้นนั้นก็มีเข้ามาสู่ศูนย์กระจายหน้ากากครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งปล่อยเป็นตามกลไกตลาด ต่อมาให้ศูนย์บริหารการกระจายหน้ากากกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันบริหารจัดการทั้งหมด และมาถึงการปรับรูปแบบวันนี้แทนที่จะให้กระทรวงสาธารณสุขกับกรมการค้าภายในบริหารจัดการ ก็ให้กระทรวงสาธารณสุขกับมหาดไทยเป็นผู้บริหารจัดการเลยตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป” รมว.พาณิชย์ กล่าว