ผู้ว่าฯ นราธิวาส ประกาศระงับการเดินทางเข้า-ออกพื้นที่ของบุคคล มีผลตั้งแต่ 29 มี.ค.63

จ.นราธิวาส ประกาศระงับการเดินทางเข้า-ออกพื้นที่ของบุคคล สกัดเชื้อโควิด-19 มีผลตั้งแต่ 29 มี.ค.63

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2563 มีรายงานว่า นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ลงนามคำสั่งจังหวัดนราธิวาสที่ 1365/2563 เรื่อง ระงับการเดินทาง เข้า-ออก จังหวัดนราธิวาส ของบุคคล โดยคำสั่งระบุไว้ดังนี้…

ภาพจากอีจัน

เนื่องด้วยปัจจุบันจังหวัดนราธิวาส มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายอำเภอ และพบการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น เพื่อเป็นการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคไปสู่ประชาชนวงกว้าง การควบคุมพื้นที่ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค จังหวัดนราธิวาส จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้มาตรการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างเข้มข้นเพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคในสถานที่ต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงสูง

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 และมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกอบข้อกำหนดซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ข้อ 1 การห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง ข้อ 10 วรรคสอง และวรรคสาม มาตรการดูแลความสงบเรียบร้อย ข้อ 11 มาตรการป้องกันโรค ข้อ 13 คำแนะนำเกี่ยวกับการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด

ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส/ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดนราธิวาส โดยจังหวัดนราธิวาส จึงมีคำสั่ง ดังนี้

1. ห้ามประชาชนเดินทาง เข้า -ออก ข้ามเขตพื้นที่จังหวัดนราธิวาส อันเนื่องมาจากเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการติดต่อเชื้อโรคโควิด-19 เว้นแต่เพื่อประโยชน์ในการรักษาพยาบาล การทำให้ปลอดภัยจากเชื้อโรค การป้องกันโรค การฆ่าเชื้อโรค การขนส่งสินค้าที่จำเป็น สินค้าอุปโภค – บริโภค การไปรษณีย์ อุปกรณ์เครื่องมือเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ยานพาหนะเพื่อการกู้ชีพ กู้ภัยฉุกเฉิน รถพยาบาล และยานพาหนะของทางราชการ หรือได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ

ทั้งนี้ ผู้ได้รับการยกเว้นต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด

2. ห้ามผู้ที่เป็น หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย หรือโรคระบาดเดินทางเข้า -ออก หมู่บ้านหรือเอกเทศ สำหรับที่แยกกัน หรือกักกัน และหรือข้ามเขตพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ

อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วน หากปล่อยให้ล่าช้าไปจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชน หรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิ์โต้แย้งตามมาตรา 30 วรรค 2 (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางการปกครอง พ.ศ. 2539

หากผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งนี้ จะมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหรือเป็นความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ภาพจากอีจัน

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

สั่ง ณ วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2563