เปิด 27 มี.ค.นี้! รพ.สนาม ที่ภูเก็ต ดูแลผู้ป่วยโควิด-19

ภูเก็ต เตรียมเปิดโรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ป่วยโควิด-19 เริ่มพรุ่งนี้ (27 มี.ค.)

26 มีนาคม 2563 นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนายแพทย์เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต พร้อมแพทย์โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ได้ร่วมชี้แจงความพร้อมในการเปิดให้บริการโรงพยาบาลสนามภูเก็ต เพื่อรองรับการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของจังหวัดภูเก็ตว่า จากการการคำนวณสถิติตัวเลขแนวโน้มของผู้ติดเชื้อในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของจังหวัดภูเก็ตมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตมีปัจจัยของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่เป็นจำนวนมาก

อ่านข่าวเก่า : จ. ภูเก็ต เผย พบติดเชื้อเพิ่ม 9 ราย ยอดพุ่ง 26 ราย 

ภาพจากอีจัน
รวมถึงจังหวัดภูเก็ตมีเส้นทางการเข้าสู่พื้นที่ทั้งทางบก คือ ด่านท่าฉัตรไชย, ทางอากาศ คือ สนามบินภูเก็ต และทางน้ำ คือ ท่าเทียบเรือต่างๆ

เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ดังกล่าว นายภัคพงศ์ ระบุว่า จังหวัดภูเก็ตจึงได้ร่วมกับภาครัฐเอกชนและโรงพยาบาลในจังหวัดภูเก็ต กำหนดจัดทำโรงพยาบาลสนามภูเก็ต ณ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังใหม่) เพื่อเตรียมพร้อมในการดูแลพี่น้องประชาชนผู้ติดเชื้อโควิด-19

ทั้งนี้โรงพยาบาลของรัฐในพื้นที่จังหวัดจะเปิดพื้นที่สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง สำหรับโรงพยาบาลสนามภูเก็ตจะเป็นสถานที่รองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่มากหรือไม่มีอาการ และเป็นผู้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งขณะนี้การเตรียมโรงพยาบาลสนามภูเก็ตมีความพร้อม โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนมาช่วยในการดำเนินการเป็นอย่างดี

ด้าน แพทย์หญิงบุษยา สันติศานติ์ แพทย์โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวว่า โรงพยาบาลสนามเป็นความร่วมมือของจังหวัดภูเก็ต โดยผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตร่วมกับภาคประชาชน และโรงพยาบาลทั้งหมด เพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ณ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ตหลังใหม่ โดยกำหนดจัดทำเป็นโรงพยาบาลสนามจำนวน 110 เตียง บนพื้นที่ 2 ชั้น ชั้นล่างจำนวน 40 เตียง และชั้นบน 70 เตียง แบ่งพื้นที่ชายหญิงแยกออกจากกัน และแบ่งพื้นที่การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเบา และพื้นที่ผู้ป่วย 7 วันหลัง ก่อนที่จะอนุญาตให้กลับบ้าน

ภาพจากอีจัน
สำหรับวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ได้รับการสนับสนุนจาก ภาคเอกชน และรัฐบาลที่สนับสนุน

ส่วนแนวทางการดูแลผู้ป่วย จะดำเนินการดูแลผู้ป่วยที่มีผลการทดสอบ เป็นบวก และมีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการ แต่มีผลการทดสอบ ติดเชื้อโควิด-19 โดยผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองได้และผู้ป่วยจะถูกส่งมาจากโรงพยาบาลในจังหวัดภูเก็ตและถูกส่งมาจากโรงแรมที่เป็นสถานที่พักของผู้เข้าเกณ์เฝ้าระวังต้องสงสัย เพื่อมารับการดูแลและรักษาต่อ ณ โรงพยาบาลสนาม จนกระทั่งผลตรวจเป็นลบจึงจะอนุญาตให้กลับบ้านได้ และจะต้องเฝ้าระวังที่บ้านต่ออีก 14 วัน

สำหรับบุคลากรที่ประจำ ณ โรงพยาบาลสนามจะประกอบด้วยแพทย์และพยาบาลประจำ 24 ชั่วโมง โดยมีการใช้ระบบวิดีโอคอล หุ่นยนต์ในการดูแล พร้อมวิดีโอ เพื่อมอนิเตอร์ผู้เข้ารับการรักษาตลอด 24 ชั่วโมง เป็นการมอนิเตอร์ผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

ผู้ป่วยที่ต้องการจะพูดคุย จะมีจุดวิดีโอคอล ในอัตรา 9 เตียงต่อ 1 จุด กรณีที่ผู้ป่วยเกิดมีปัญหาต้องการความช่วยเหลือ ทางการแพทย์บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลจะลงไปดูแลที่เตียง พร้อมทั้งมีการจัดทำระบบฉุกเฉินและระบบส่งต่อผู้ป่วย ตามมาตรฐานทางการแพทย์

ภาพจากอีจัน
ทั้งนี้ ได้ดำเนินการปรับปรุงศาลากลางหลังใหม่ เมื่อวันอังคารที่ 24 มีนาคม 2563 โดยภาคเอกชน ร่วมปรับปรุง สนับสนุนเตียงที่นอนผ้าปูที่นอน อุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัวของผู้ป่วยทั้งหมด และมีทีมของโรงพยาบาลดูแลเรื่องการจัดการของผู้ป่วย การกำหนดแนวทางการป้องกันการติดเชื้อ มีทีมอาชีวอนามัย ดูแลเรื่องการบำบัดขยะ และการบำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐานตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด พร้อมทั้งมีจิตอาสาเข้าไปช่วย ทำความสะอาด พื้นที่ ณโรงพยาบาลสนาม โดยโรงพยาบาลสนามจะเริ่มเปิดทดลองระบบในวันนี้ (26 มีนาคม 2563) และจะมีการซ้อมแผนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยวิกฤต โดยกำหนดจะเปิดใช้โรงพยาบาลสนามในวันศุกร์ที่ 27 มีนาคม 2563

แพทย์หญิงบุษยา กล่าวเพิ่มเติมว่า พยาบาลและแพทย์จะดูแลอยู่ในห้องที่ปิดปลอดเชื้อ ชั้นที่ 1 จะแบ่งคนไข้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนผู้ป่วยชายและส่วนผู้ป่วยหญิง โดยโซนคนไข้เรียกว่าโซนติดเชื้อ ดังนั้นเมื่อจะเข้าไปดูแลทำการรักษาส่งอาหาร การทำความสะอาดบุคลากรทุกคนที่เข้าไปจะต้องสวมใส่ชุดป้องกันเชื้อ สวมหน้ากาก N95 ใส่ถุงมือเพื่อป้องกันเชื้อ และภายหลังจากดูแลผู้ป่วยแล้ว เข้าสู่ห้องที่จัดไว้สำหรับการถอดชุด เพื่อป้องกันไม่ให้บุคลากรติดเชื้อ มีการสวมชุดอย่างถูกต้อง

ภาพจากอีจัน
ส่วนห้องปลอดเชื้อจะมี TV Monitor สำหรับดูอาการ ของผู้ป่วยทั้งหมด ส่วนขยะที่ออกจากหอผู้ป่วย จะถือว่าเป็นขยะติดเชื้อ จะมีการแยกขยะไปกำจัด โดยใส่ถุงสีแดง ทั้งนี้บริเวณตัวตึกทั้งหมดจะไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกหรือญาติของผู้ป่วยเข้าไปเยี่ยม เนื่องจากเป็นพื้นที่ติดเชื้อ

ส่วนกระบวนการการรักษาพยาบาลนั้น

กระบวนการที่ 1 คือการ Monitor ผ่านระบบทีวีวงจรปิด การสื่อสารแบบ Two Way ผ่านไมโครโฟน โดยผู้ป่วยสามารถสื่อสารกับบุคลากรทางการแพทย์ได้

กระบวนการที่ 2 ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ หรือต้องการการพยาบาล จะมีห้อง ที่ใช้สำหรับการพยาบาลดูแลรักษา ฉุกเฉิน สามารถใส่เครื่องช่วยหายใจ เพื่อการดูแลพยาบาลเบื้องต้น จากนั้นจะทำการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ด้วยเตียงขึ้นรถพยาบาลไปทำการรักษาต่อที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
นอกจากนี้ภายในโรงพยาบาลสนามจะจัดตั้งเต็นท์บริเวณด้านนอก เพื่อตรวจผู้ติดเชื้อโควิด มีระบบเช็กเอกซเรย์สำหรับตรวจอาการผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการ เหนื่อยหอบ

เมื่อถามถึงปัจจัยที่เลือกศาลากลางจังหวัดภูเก็ตจัดทำเป็นโรงพยาบาลสนาม ก็เพื่อต้องการให้ผู้ป่วยอยู่ในระบบที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทได้ดี โดยที่ผ่านมาได้ดูสถานที่หลายที่ เช่น ที่สนามกีฬา ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตภูเก็ต และตัดสินใจเลือกศาลากลาง เนื่องจากเป็นสถานที่ที่มีความพร้อม และห่างไกลจากชุมชน สามารถดูแลจัดการขยะและน้ำเสียได้ถูกสุขลักษณะ อากาศถ่ายเทได้ดี มีห้องที่สามารถปรับปรุงเพื่อรักษาความปลอดภัยให้แก่บุคลากรได้