รองโฆษก ตร. เผย สั่ง ตม. ตรวจเข้ม คัดกรอง นทท.จากประเทศเสี่ยง

พ.ต.อ.กฤษณะ รองโฆษก ตร. เผย สั่ง ตม. ตรวจเข้ม คัดกรอง นักท่องเที่ยวจากประเทศเสี่ยง ป้องการแพร่ระบาดโควิด-19

วันนี้ (18 มี.ค. 63 ) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รอง โฆษก ตร. กล่าวถึงขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมือง สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และประเทศที่เป็นเขตติดต่ออันตรายตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศ

ภาพจากอีจัน

เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ COVID-19 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ ประเทศอิตาลี ประเทศจีน ประเทศอิหร่าน ประเทศเกาหลีใต้ ฮ่องกง และ มาเก๊า จะต้องทำการขอ VISA จากสถานทูตไทยในประเทศนั้นๆ เพื่อขออนุญาตเข้ามายังประเทศไทย

ส่วน ประเทศเกาหลีใต้ ฮ่องกง และ มาเก๊า ยังได้รับสิทธิตามความตกลงระหว่างประเทศเดิมอยู่ แต่ต้องยื่นเอกสารใบรับรองแพทย์ผลการรับรองการตรวจ COVID-19 ที่แสดงผล Negative โดยเอกสารต้องมีอายุไม่เกิน 48 ชม. ก่อนเดินทาง และต้องมีประกันสุขภาพมูลค่าไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลล่าสหรัฐ หรือประมาณ 3,200,000 บาท หากเอกสารครบถ้วนสายการบินถึงออก “บอร์ดดิ้งพาส” ให้ ซึ่งในส่วนนี้ก็จะมีการตรวจวัดอุณหภูมิ หากพบว่ามีไข้สายการบินก็จะไม่อนุญาตให้ขึ้นเครื่อง

ภาพจากอีจัน

สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเมื่อเดินทางถึงสนามบินไทยแล้ว จะต้องผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิโดยเครื่อง Thermoscan จากกรมควบคุมโรคฯ ถ้าพบว่ามีไข้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที แต่ถ้าอุณหภูมิร่างกายปกติ จะดำเนินการตรวจสอบใบรับรองแพทย์ผลการรับรองการตรวจ COVID-19 ที่แสดงผล Negative และเอกสารยืนยันต่างๆ ที่กล่าวไปข้างต้น จากนั้นสาธารณสุขจะประทับตรา Health Control ลงในเอกสาร ตม. 6 และ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจะตรวจสอบตราประทับ Health Control อีกครั้ง และบันทึกข้อมูลลงในระบบ Biometric ถึงจะผ่านการอนุญาตเข้าเมือง

ทั้งนี้ สำหรับผู้คนที่เดินทางมาจากประเทศเกาหลีใต้ จะมีเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข , ตรวจคนเข้าเมือง และ เจ้าหน้าที่การท่าฯ คัดแยกผู้โดยสาร 3 กลุ่ม ที่หน้า Gate ได้แก่ กลุ่มOverstay, กลุ่มทั่วไป, กลุ่มที่ต่อเครื่อง โดยทำการตรวจวัดอุณหภูมิคัดกรองบุคคล และ สอบสวนโรคฯ หากไม่มีไข้ จะให้กรอกข้อมูลแบบฟอร์ม ต.8 และ ต.8 (ออนไลน์) พร้อมรับ Health Stamp ลงในหนังสือเดินทาง โดยกลุ่มที่ต่อเครื่องจะปล่อยตัวขึ้นเครื่องตามปกติ, กลุ่มทั่วไป การท่าและ สภ.สุวรรณภูมิ จะพาเดินไปตรวจอนุญาตเข้าเมืองที่ด่าน ตม.ขาเข้าฯ แนะนำให้เฝ้าระวังและกักตัวเองในที่พัก 14 วัน พร้อมกลับบ้านได้ตามปกติ และกลุ่ม Overstay การท่าและ สภ.สุวรรณภูมิ จะพาเดินไปตรวจอนุญาตเข้าเมืองที่ด่าน ตม.ขาเข้าฯ แล้วพาขึ้นรถไปที่สถานีดับเพลิงของการท่าฯ เพื่อคัดแยกส่งกลับภูมิลำเนา โดยจะแนะนำให้เฝ้าระวังและกักตัวเองในที่พัก 14 วัน พร้อมกลับบ้านได้ตามปกติ และ กลุ่ม Overstay แต่ถ้าตรวจพบว่ามีไข้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข จะส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที ซึ่งผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค ถือเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง จึงเข้าข่ายผู้ที่มีเหตุอันควรสงสัย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ฉะนั้นจะต้องกักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน ตามคำสั่งของพนักงานควบคุมโรคในพื้นที่นั้น หากฝ่าฝืนจะมีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท

ภาพจากอีจัน

ทั้งนี้ รองโฆษก ตร. กล่าวต่ออีกว่า สำหรับประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้มีประกาศเป็นประเทศที่เป็นเขตติดต่ออันตราย หรือประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศไทย ที่จะมีผู้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ร่วมกับ ด่านควบคุมโรคระบาดระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในการเพิ่มความเข้มงวดกวดขันในการตรวจคัดกรองบุคคล การตรวจวัดอุณหภูมิ บันทึกประวัติ และสอบสวนโรคฯ ผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ในทุกช่องทางอยู่แล้ว

ส่วนประเทศมาเลเซียที่ประกาศปิดประเทศ 14 วัน ทำให้คนไทยที่อยู่ที่นั่น ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ 3 จังหวัด ต้องเดินทางกลับเข้าประเทศนั้น เบื้องต้นได้ให้กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 6 ตรวจสอบปริมาณแรงงานคนไทย ว่ามีจำนวนเท่าใด พร้อมเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองในการคัดกรองบุคคล คัดแยก ตรวจสอบ ทำประวัติ ร่วมกับด่านควบคุมโรคระบาดระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคฯ อย่างมากที่สุด

อีกทั้ง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มีความห่วงใยข้าราชการตำรวจทุกนาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในการคัดกรองบุคคล ทั้งทางบก เรือ อากาศ ขอให้เตรียมความพร้อมและเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคฯ และหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อ เช่น งานเลี้ยงสังสรรค์ สถานบันเทิง สนามกีฬา อีกทั้งกำชับผู้บังคับบัญชาทุกภาคส่วน ให้ประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุข หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์ หรือ สร้างช่องทางรับรู้เกี่ยวกับการป้องกันตนเองไม่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) และ สังเกตอาการที่สุ่มเสี่ยง หรือ เฝ้าระวังตนเอง บุคคลใกล้ชิด อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้น