เปิด 3 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ ‘ต้นกำเนิด’ โควิด-19

โควิด-19 แพร่มาจากหลายที่? การวิจัยชี้โควิด-19 อาจมีต้นกำเนิดของเชื้อหลายที่ –ไม่ได้อยู่ที่จีนที่เดียว

หลายประเทศยังคงรับมือวิกฤติโควิด-19 ที่ระบาดอย่างต่อเนื่อง หลายคนยังสงสัยว่าต้นกำเนิดของเชื้อไวรัสร้ายนี้มาจากไหน และเราควรระวังอย่างไรบ้าง

วานนี้ (9 มี.ค. 2563) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า
ท่ามกลางการสืบสวนหาต้นกำเนิดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งก่อให้เกิดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน เกิดข่าวลือและการให้ข้อมูลเท็จมากมายจนกลายเป็นกระแสร้อน สำนักข่าวซินหัวจึงรวบรวมข้อเท็จจริง 3 ประการ ดังนี้ 

ภาพจากอีจัน

1. โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีต้นกำเนิดจากธรรมชาติ

วารสารการแพทย์ชื่อดังระดับโลกอย่างเดอะ แลนเซต (The Lancet) ได้เผยแพร่แถลงการณ์ออนไลน์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งปฏิเสธคำกล่าวอ้างว่าโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ได้มีต้นกำเนิดตามธรรมชาติ และประณามทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับ “อาวุธชีวภาพ” แถลงการณ์ระบุว่าคณะนักวิทยาศาสตร์จากหลายประเทศได้วิเคราะห์พันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่และ “สรุปอย่างเด็ดขาดว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์นี้มีต้นกำเนิดในสัตว์ป่า เหมือนกับจุลชีพก่อโรคเกิดใหม่จำนวนมากอื่นๆ”

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ 27 คน กล่าวว่า “กระแสข่าวลือและการให้ข้อมูลแบบผิดพลาดเกี่ยวกับต้นกำเนิดของโรคระบาดนี้กำลังคุกคามการแบ่งปันข้อมูลที่รวดเร็ว เปิดกว้าง และโปร่งใสในปัจจุบัน”

2.ต้นกำเนิดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่ปรากฏ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในจีน

จงหนานซาน ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินหายใจชื่อดังของจีน กล่าวว่าโรคระบาดปรากฏขึ้นครั้งแรกในจีน แต่ไม่จำเป็นต้องมีต้นกำเนิดจากจีน

องค์การอนามัยโลก (WHO) บ่งชี้ชัดเจนหลายครั้งว่าการใช้โควิด-19 (COVID-19) เป็นชื่อเรียกโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เพื่อป้องกันการใช้ชื่อเรียกอื่นๆ ที่อาจเป็นการตีตราหรือทำลายชื่อเสียง เช่น การเรียกตามตำแหน่งทางภูมิศาสตร์อย่างไวรัสอู่ฮั่น

การแถลงข่าวประจำวันขององค์การฯ เมื่อไม่นานนี้ ระบุว่าการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นประเด็นปัญหาระดับโลก และพันธกิจในการเสาะแสวงหาแหล่งที่มาของไวรัสสายพันธุ์นี้ยังคงดำเนินต่อไป

3.ศูนย์กลางการระบาดและต้นกำเนิดไวรัสอาจไม่ใช่ที่เดียวกัน

หนังสือการระบาดทั่วไปของไข้หวัดสเปน : 1918 (Spanish Flu Pandemic: 1918) ของเกลวิน เจส์ ระบุว่าโรคไข้หวัดใหญ่สเปน 1918 ที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกราว 50-100 ล้านคน ถูกเรียกชื่อนี้เนื่องจากเกมการเมืองในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1

ภาพจากอีจัน

สเปนที่วางตัวเป็นกลางในช่วงสงครามดังกล่าวรายงานการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่เกิดใหม่อย่างเปิดเผย ซึ่งตรงข้ามกับบรรดาประเทศกระหายสงครามที่พยายามปกปิด เพราะต้องการรักษาขวัญกำลังใจของเหล่าทหาร

ขณะที่โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอช1เอ็น1 (H1N1) หรือไข้หวัดหมู ซึ่งแพร่ระบาดระหว่างต้นปี 2009 จนถึงปลายปี 2010 เป็นที่รู้จักในวงกว้างจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันผลมากมายในสหรัฐอเมริกา

ทว่าบทความ “From where did the 2009 ‘swine-origin’ influenza A virus (H1N1) emerge?” ซึ่งเผยแพร่ผ่านวารสารไวรัสวิทยา (Virology Journal) ปี 2009 ระบุว่าการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการแกะรอยข้อมูลพบว่าเชื้อไวรัสก่อโรคไข้หวัดหมูเริ่มต้นมาจากมนุษย์ในเม็กซิโก