คุณหมอธรณินทร์ เล่าเรื่องเชื้อ COVID-19 แบบง่ายๆ

คุณหมอธรณินทร์ กองสุข เล่าเรื่องเชื้อ COVID-19 ที่ถูกต้องแบบง่ายๆ อ๋อ… เป็นแบบนี้นี่เอง

หลังจากที่โลกออนไลน์มีการเผยแพร่ภาพที่เขียนด้วยลายมือระบุข้อมูลของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยอ้างว่า คุณหมอ รพ.ศิริราช เป็นคนเขียนสรุป ในแบบเข้าใจง่ายๆ ให้อ่านและทำความเข้าใจ เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ (5 มีนาคม 2563) คุณหมอธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์ สมเด็จเจ้าพระยา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชี้แจงต่อกรณีดังกล่าวว่า

ภาพจากอีจัน
“สืบเนื่องจากมีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ COVID-19 เป็นภาพถ่ายเอกสารที่เขียนด้วยลายมือ 3 ภาพ ขอเรียนให้ทราบเพื่อไม่ให้เกิดการเข้าใจผิด … ว่าเอกสารดังกล่าวไม่ได้เป็นของผมนะครับ เนื้อหาบางส่วนถูกต้องตามหลักวิชาการแต่บางส่วนจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ ผมขออนุญาตนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง ตามภาพใหม่ ดังนี้”
ภาพจากอีจัน
ข้อเท็จจริงคือ อาการไข้ ไอ หวัด แน่นหน้าอก หอบ เหนื่อย ปวดเมื่อยตามตัว เป็นอาการที่พบบ่อยในผู้ป่วย COVID-19 ซึ่งมีระยะฟักตัวของเชื้อ 2-14 วัน ไข้ เป็นปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเมื่อเชื้อโรคเข้าสู่เซลล์ (ไม่ว่าจะเป็นส่วนไหนของร่างกาย) เกิดสารบางอย่างไปกระตุ้นต่อมไฮโปทาลามัสที่อยู่ใต้สมองสั่งงานให้เพิ่มอุณหภูมิของร่างกายผ่านระบบหลอดเลือดหัวใจและกล้ามเนื้อ ดังนั้นผู้ที่ติดเชื้อไวรัสจึงมีไข้ได้โดยเชื้อไม่จำเป็นต้องเข้ากระแสเลือด
ภาพจากอีจัน

ข้อเท็จจริงคือ

จากข้อมูลปัจจุบัน …เซลล์ปอดของคนจะมีตัวรับเชื้อไวรัส COVID-19 จึงทำให้เชื้อไวรัส COVID-19 แพร่พันธุ์ขยายตัวทำลายเซลล์ปอดได้ง่าย …ร่วมกับระบบภูมิคุ้มกันของบางคนที่ทำงานมากเกินทำให้เกิดการอักเสบของปอดมากขึ้น จนไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ ส่งผลให้ตับและไตวาย สุดท้ายเสียชีวิต ร่างกายของคนเรามีภูมิคุ้มกันที่สามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ แต่ระบบภูมิคุ้มกันของแต่ละคนไม่เท่ากัน ถ้าภูมิคุ้มกันเข้มแข็งก็สามารถจัดการทำลายเชื้อไวรัสไปจนหมด และไม่ทุก คนที่จะมีแผลเป็นในปอดติดตัวไปตลอดชีวิตข้อมูลปัจจุบันอัตราการตายจาก COVID-19 อยู่ที่ร้อยละ1-3 พบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อน

ภาพจากอีจัน
การป้องกันการติดเชื้อไวรัส COVID-19 1. ไม่เดินทางเข้าไปในพื้นที่ประเทศเสี่ยงหรือพื้นที่/ประเทศที่มีการระบาด 2. กินอาหารร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ 3. หลีกเลี่ยงเข้าไปในที่มีคนแออัด หากจำเป็นต้องเข้าไปในที่ชุมนุมชนหรือที่มีคนแออัด ให้ใส่หน้ากากอนามัยและรักษาระยะห่างจากคนอื่น ไม่สัมผัสกันหรือพูดคุยระยะใกล้ชิด 4. ใส่หน้ากากอนามัยถ้ามีอาการหวัด ไอ จาม 5. ไม่สัมผัสหรือใช้ของร่วมกับผู้อื่น 6. ไม่สัมผัสสิ่งของที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได ก็อกน้ำ ถ้าสัมผัสต้องรีบเช็ดล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไป 7. สร้างนิสัยไม่เอามือมาสัมผัสใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณ ตา จมูก ปาก 8. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ 9. รักษาระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร