เตรียมบุกทำเนียบพรุ่งนี้

ม็อบหนี้สินเกษตรกร ปักหลักชุมชนเรียกร้องปรับโครงสร้างหนี้ – แก้ทุจริตในสำนักงาน กฟก. บริหารงบไม่โปร่งใส เตรียมบุกทำเนียบยื่นนายกฯ พรุ่งนี้

วันนี้ (3 มีนาคม 2563) ที่บริเวณด้านหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีม็อบเกษตรกร หลายร้อยคน เดินทางมาจาก จ.นครสวรรค์ พิษณุโลก กำแพงเพชร ปักหลักชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรัดแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร และสมาชิกกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ตั้งแต่วันที่ 17 ธ.ค.62 ได้มีการเคลื่อนย้ายที่ชุมนุมไปมาระหว่างกระทรวงเกษตรฯข้างกระทรวงศึกษาธิการ และทำเนียบรัฐบาล ริมคลองผดุงกรุงเกษม นำโดยนางสาวราตรี เอี่ยมสะอาด ประธานเครือข่ายเกษตรกรของพระราชา กล่าวว่าได้มีการออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3/63 ระบุว่าเกษตรกรในเครือข่าย 600 กว่าคน เคลื่อนไหวตั้งแต่ 17ธ.ค.62 เพื่อขอให้ปรับโครงสร้างหนี้สินเกษตรกร เป็นมติครม.ใหม่ โดยนำข้อดีของมติครม. 7 เม.ย.53 มาร่วมกับข้อดีมติครม. 2ต.ค.61 เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร และปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ โดยกลุ่มเกษตรกร จะเดินเท้าไปยื่นหนังสือให้กับนายกรัฐมนตรี รองนายกฯและรมว.เกษตรฯในวันที่ 4 มี.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
น.ส.ราตรี กล่าวว่าเครือข่ายฯได้ประชุมกับตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาต่อเนื่อง แต่มีการบิดเบือนรายละเอียดของสมาชิก เช่นข้อมูลของธนาคารกรุงไทยและสหกรณ์การเกษตร หายไปแต่มีสถาบันเอสเอ็มอี เข้ามาแทน ร่างละเอียดโดยสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯรวมทั้งข่าวบิดเบือนการเคลื่อนไหวของเครือข่าย อาทิ เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์ของกลุ่มคนกลุ่มเดียว ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะการเคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์เกษตรกรทั้งประเทศ
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ทั้งนี้เสนอเรียกร้องให้ 1.นายกรัฐมนตรี ควรมีคำสั่งตั้งกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อดำเนินโครงการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้มีประสิทธิภาพและป้องกันการทุจริต 2.ให้นายกรัฐมนตรี รองนายกฯคือนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ ในฐานะประธานกฟก. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ ทบทวนคำสั่งและพิจารณาการทำงานของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งที่ผ่านมาการให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯเป็นหน่วยงานจัดทำรายละเอียดปรับโครงสร้างหนี้สินเกษตรกร เข้าครม. ส่งผลให้การแก้ไขล่าช้า เนื่องจากกฟก. มีการบริหารงบประมาณไม่โปร่งใสหลายประการ ดังนั้นควรให้สำนักงานกฟก. มีหน้าที่เพียงตรวจสอบคุณสมบัติสมาชิก ขึ้นทะเบียนหนี้ สถาบันเจ้าหนี้และมูลหนี้ของเกษตรกร กลุ่มที่ 1 ตามมติครม. 7 เม.ย.53 เท่านั้น 3.การดำเนินการเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้และขั้นตอนปฏิบัติ ควรให้สำนักนายกรัฐมนตรี หรือกระทรวงเกษตรฯเป็นผู้ควบคุมดูแลและปฏิบัติการร่วมกับสถาบันเจ้าหนี้ เพื่อให้การปรับโครงสร้างหนี้มีประสิทธิภาพ ไม่มีพวกพ้อง สามารถแก้ไขหนี้สินให้กับเกษตรกรทั่วไปได้ ไม่ใช่สมาชิกกฟก.เท่านั้น โดยจะอยู่ชุมนุมจนกว่าจะได้รับคำตอบจากรัฐบาล
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน