น.ศ. ม.ราชภัฏยะลา ตั้งแฟลชม็อบ แสดงออกทางการเมือง

น.ศ. มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ร่วม 300 คน รวมตัวตั้งแฟลชม็อบ แสดงออกทางการเมือง แสดงจุดยืน “พวกเราต้องการประชาธิปไตย”

หลังจากเกิดการรวมตัวของกลุ่มนักศึกษาหลายมหาวิทยาลัย เพื่อแสดงจุดยืน และเรียกร้องทางการเมือง สถานการณ์ยังระอุอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา

วานนี้ (2 มี.ค.63) เวลาประมาณ 17.00 น. บริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา นักศึกษา ของมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา และนักศึกษาภายนอกจำนวนเกือบ 300 คน ได้เดินมาร่วมชุมนุมกัน เพื่อแสดงจุดยืน มรย.ขออยู่เคียงข้างประชาชน มรย. ไม่เอาเผด็จการ พร้อมทั้งมีการร่วม แสดงความคิดเห็น เขียนข้อความบนแผ่นป้าย การอ่านบทกวีเกี่ยวกับการเมืองในปัจจุบัน การปราศรัยของนักศึกษา รวมทั้ง การแสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้วไปด้วยกัน โดยในการชุมนุมนั้น จะไม่มุ่งเน้นความรุนแรง แต่จะแสดงความคิดเห็นต่อการเมือง โดยมีตำรวจจาก สภ.เมืองยะลา นำกำลังมาคอยดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย

ภาพจากอีจัน
ด้ายนาย อามือรัง จู นักศึกษา คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ กล่าวถึงการชุมนุมในครั้งนี้ว่า เราในฐานะนักศึกษา เราเห็นว่า ประชาธิปไตย สำคัญอย่างยิ่ง ที่จะผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า หลังจากได้ใช้ช่องทางสื่อ เพื่อเชิญชวน นักศึกษา, บุคลากร ,อาจารย์ ให้มารวมตัวกัน จึงได้มาแสดงจุดยืนกันในวันนี้ เพื่อให้ทุกคนได้รู้ว่า พวกเราต้องการประชาธิปไตย และ มหาวิทยาลัยเรา ก็จะอยู่เคียงข้างประชาชน

ขณะที่มูหามะฮาซัน เจ๊ะอารง ตัวแทนนักศึกษา มรย.ได้อ่านคำแถลงการณ์ ของกลุ่มนักศึกษา มรย.มีใจความสำคัญว่า
“แถลงการณ์นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา”
เรื่อง นักศึกษามหาวิทยาลัยราชกัฏยะลายึดมั่นในแนวทางประชาธิปไตย
นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มีความเชื่อในหลักการประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และ ความเสมอภาคเป็นสำคัญ การยึดอำนาจรัฐประหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 กระทั่งมีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นเวลา 5 ปี ที่ตอกย้ำชัดเจนว่า การรัฐประหาร ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศได้ อำนาจเบ็ดเสร็จผ่านกระบอกปืน นอกจากจะไม่ช่วยให้ประเทศพัฒนาได้ในระยะยาวแล้ว ยังเป็นการฉุดรั้งประชาธิปไตยของประเทศด้วย รัฐประหาร ไม่ช่วยให้เกิดการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ ความโปร่งใส แต่เป็นการเปิดช่องทางแก่กลุ่มทุน นายทหาร เข้ามามีส่วนในการกอบโกยผลประโยชน์มหาศาล รัฐประหารลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน มีการจับกุมนักศึกษา ประชาชนที่เห็นต่างในหลายกรณี รัฐประหารสืบทอดอำนาจผ่านกลไกรัฐธรรมนูญ 60 มีบทเฉพาะกาลให้วุฒิสภาจากการเลือกของคณะรัฐประหาร มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี รัฐประหาร ก่อให้เกิดความบิดเบี้ยวในกระบวนการยุติธรรม เช่น กรณีนาฬิกายืมเพื่อนไม่ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน หรือกระทั่งล่าสุดที่มีการสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่เพราะการกู้เงิน

ภาพจากอีจัน
ถึงแม้วันนี้ประเทศจะมีการเลือกตั้งเสมือนว่าเข้าสู่กระบวนการทางประชาธิปไตย แต่ผลพวงของการรัฐประหาร สืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญ ได้รัฐบาลที่ไม่ตรงกับเจตจำนงของประชาชน ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน ทำให้การบริหารประเทศไม่ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างอารยะประเทศ ไม่มีวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานตามกลไกต่างๆ ได้อย่างแท้จริง รัฐประหารได้แต่งตั้งคนของตนเองเข้าไปทำหน้าที่ใน องค์กรต่าง ๆ ขาดการตรวจสอบอย่างยุติธรรม และใช้องค์กรต่างๆ กลั่นแกล้งผู้เห็นต่างอีกด้วย ปรากฏการณ์เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความบิดเบี้ยวของรัฐธรรมนูญ 60 มรดกของรัฐบาลรัฐประหาร (คสช.) ที่ได้ออกแบบให้เกิดช่องว่างทางกฏหมายที่เอื้อต่อการใช้อำนาจให้เป็นไปตามเป้าหมายทางการเมืองของเผด็จการ คสช.นักศึกษา ประชาชน ได้ติดตามการทำงานของ คณะรัฐประหาร มาอย่างต่อเนื่อง ถึงเวลาแล้วที่ นักศึกษา ประชาชน ไม่ควรจะนิ่งเฉยต่อสภาพการที่ดำรงอยู่ ต้องลุกขึ้นมาทวงถามรัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่ ต้องร่วมกันเสนอทางออกให้ประเทศจึงขอเรียกร้องดังนี้

1.ให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร) มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างอิสระ และให้มีการทำปรามติก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

2.ให้นายกรัฐมนตรีลาออก เปิดทางให้รัฐสภา เลือกนายกรัฐมนตรีที่จะนำพาประเทศข้ามพ้นวิกฤติ มีความเชื่อมั่น และมีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชนได้

3.ให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์อิสระ ที่ได้รับการแต่งตั้งในสมัยรัฐประหารลาออก และให้มีการสรรหา บุคคลใหม่เข้าไปแทนที่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

ด้วยจิตรักประชาธิปไตย
นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา