น้ำโขงนครพนมแล้งหนัก กระทบความเป็นอยู่เกษตรกร

เกษตรกรริมแม่น้ำโขงนครพนมโอดหนัก! หลังแม่น้ำโขงแล้งสุดในรอบ 50 ปี ขาดน้ำทำการเกษตร ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายเท่าตัว

วันนี้ (27 ก.พ. 2563) ทีมข่าวอีจันรายงานว่า จ.นครพนม สถานการณ์ภัยแล้ง ยังน่าห่วง หลังระดับน้ำโขงยังวิกฤติ ลดต่อเนื่อง ล่าสุดจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ระดับน้ำโขงเฉลี่ยต่ำสุดในพื้นที่ จ.นครพนม มีระดับ ต่ำสุดที่ประมาณ 80 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร ถือว่า ต่ำสุดในรอบ 50 ปี

ส่งผลให้แม่น้ำโขงบางจุดเกิดสันดอนทราย เป็นพื้นที่กว้าง ระยะทางยาว กว่า 1 กิโลเมตร เริ่มกระทบการเดินเรือสัญจรหาปลา ต้องเดินเรืออ้อมหาดทราย รวมถึงกระทบต่อเกษตรกร ริมแม่น้ำโขง ที่ทำการเกษตรในฤดูแล้ง ต้องสูบน้ำทำการเกษตร ในระยะทางที่ไกลขึ้น แบกภาระค่าใช้จ่ายเท่าตัว

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน

นอกจากนี้ยังส่งผลให้ปริมาณน้ำตามลำน้ำสาขาสายหลัก รวมถึงปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำชลประทานปริมาณต่ำ ประมาณ 20 -30 เปอร์เซ็นต์ของความจุ โดยทางชลประทาน จ.นครพนม ต่างเร่งวางแผน จัดสรรน้ำ และเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้เพียงพอกับพื้นที่การเกษตร ในช่วงฤดูแล้ง อีกหลายเดือน และแจ้งเตือนให้เกษตรกร งดปลูกพืชการเกษตร ฤดูแล้ง ในพื้นที่ นอกเขตชลประทาน เนื่องจากมีความเสี่ยงได้รับความเสียหาย จากปัญหาขาดแคลนน้ำ

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน

โดยผลกระทบจากน้ำโขงแห้ง ไม่เพียงกระทบต่อการเกษตร ยังส่งผลกระทบต่ออาชีพประมง หาปลาน้ำโขงขาย พบว่าในช่วง นี้ตามตลาดสดต่างๆ รวมถึง ตลาดปลาน้ำโขง เริ่มซบเซาเนื่องจากน้ำโขงแห้ง ส่งผลให้ จับปลาได้น้อยลง ชาวบ้าน ขาดรายได้ ที่สำคัญยังส่งผลกระทบต่อการขยายพันธ์ุปลาน้ำโขง ทำให้ปริมาณน้อยลง และมีบางชนิดเสี่ยง สูญพันธุ์ เนื่องจากน้ำโขงแห้งขอด กระทบระบบนิเวศน์ ขาดความอุดมสมบูรณ์

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน

ด้านนายไพฑูรย์ สุขต่าย ผู้อำนวยการโครงการชลประทาน จ.นครพนม เปิดเผยว่า สำหรับปีนี้ต้องยอมรับว่า พื้นที่ จ.นครพนม ภาพรวม 12 อำเภอ ได้ รับผลกระทบจากภัยแล้งหนัก ต้นเหตุสำคัญ มาจาก อิทธิพลการสร้างเขื่อนกั้นน้ำโขง ในจีน และ สปป.ลาว รวมถึงปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสะสม เมื่อปี 2562 ต่ำ ส่งผลกระทบถึงฤดูแล้งปีนี้

โดยทางชลประทาน ได้ เร่งสำรวจ บริหารจัดการน้ำ กังวลที่สุด คือ ในพื้นที่ อ.ศรีสงคราม อ.ปลาปาก อ.วังยาง ที่ไม่มีระบบชลประทาน ไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ แต่ฤดูแล้ง ยังอีกหลายเดือน จึงต้องประกาศเตือน ให้ เกษตรกรใช้น้ำประหยัด ใช้ในส่วนที่จำเป็น และจะมีการชะลอการพร่องน้ำไปยังระบบชลประทาน หากยังพอมีความชื้นในพื้นที่เกษตร ให้สามารถใช้น้ำได้ นานที่สุด จนกว่าฝนจะมา พร้อมเตรียม เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 15 เครื่อง เข้าไป ติดตั้ง ช่วยเหลือในจุดที่ขาดแคลนน้ำ ลดความเสียหายให้พื้นที่เกษตร ส่วนใหญ่เป็นนาปรัง และให้เกษตรกรงดปลูกพืชในพื้นที่ไม่มีระบบชลประทาน ลดความเสียหาย