ศาลรัฐธรรมนูญลงมติเห็นชอบแก้กฎหมาย ทำแท้งได้ไม่ผิด

ศาลรัฐธรรมนูญ ลงมติเสียงข้างมากให้แก้กฎหมายอาญา ม.301 เรื่องทำแท้ง ทำแท้งได้ไม่ผิดหากร่างกายผู้นั้นไม่เหมาะสม

เมื่อวานนี้ (19 ก.พ. 63) ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องกรณี นางสาวศรีสมัย เชื้อชาติ (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 และมาตรา 28 หรือไม่ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 , มาตรา 28 และมาตรา 77 หรือไม่

ภาพจากอีจัน
ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ ซึ่งปรากฏผลการลงมติดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ซึ่งบัญญัติว่า “หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 และมาตรา 28 หรือไม่มีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 หรือมาตรา 28

ประเด็นที่สอง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา 301 และมาตรา 302 นั้น เป็นการกระทำของนายแพทย์ และ (1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือ (2) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276 , มาตรา 277 , มาตรา 282 , มาตรา 283 หรือมาตรา 284 ผู้กระทำ ไม่มีความผิด” ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 77 หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27, 28 และมาตรา 77

ประเด็นที่สาม สมควรมีมาตรการปรับปรุงกฎหมายหรือไม่อย่างไร มีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 และมาตรา 305 สมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวอาศัยอำนาจ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74 กำหนดคำบังคับให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่วินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้น มีผลเมื่อพ้น 360 วัน นับแต่วันที่ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย