สปสช.รู้ตัวแล้ว! แม่พาลูกตระเวนรักษาภูมิแพ้ แล้วนำยามาขายต่อ

อย่าหาทำ! ระวังติดคุกหัวโต แม่หัวหมอพาลูกตระเวน รพ. รักษาภูมิแพ้ ก่อนนำยามาขายต่อถูกๆ ในออนไลน์ สปสช. ตรวจสอบเจอ 2 คนต้องสงสัย ปีเดียวเบิกไป 465 ขวด

กำลังเป็นกระแสดราม่าเดือดปุดๆ  

หลังจากเฟซบุ๊ก “อนุชิต นิยมปัทมะ” หรือ หมอเอ หมอปอดโคราช ได้โพสต์ภาพยาฉีดพ่นจมูก แก้ภูมิแพ้ Avamys ที่มีคุณแม่บางคนนำมาโพสต์ขาย พร้อมข้อความว่า… 

“มารับยาที่โรงพยาบาล แล้วเอามาโพสต์ขายในเฟซบุ๊ก ทำอย่างนี้ไม่น่ารักเลย นโยบายรัฐประกันสุขภาพ เพื่อป้องกันคนล้มละลายจากการรักษา แต่ไม่ใช่เอามารายได้ ยาฟรี แต่ภาษีเรานะครับ ซองยาตราของ รพ.ครบ #กรมบัญชีกลาง #สปสช. #ประกันสังคม” 

โดยในภาพที่โพสต์ขาย บางคนระบุว่า “แก้ภูมิแพ้ คัดจมูก พ่นได้ 120 ครั้ง มีมาแบ่งปัน  ราคา 350 บาท ส่งฟรี” 

ขณะที่อีกคน ระบุว่า “ยาพ่นจมูก #Avamys รักษาโรคภูมิแพ้ คัดจมูก แน่นจมูก หายใจไม่ออก พ่นจมูกข้างละ 1 ครั้ง เป็นประจำทุกวัน อาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หมดอายุ 02-04-2027 ราคา 450 บาท ส่งฟรี ไม่มีเก็บปลายทาง” 

เมื่อเรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก  

ล่าสุดวันนี้ (19 ธ.ค.67) รายการเรื่องเล่าเช้านี้ รายงานว่า ทีมได้ข่าวตรวจสอบไปยัง นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. กล่าวว่า ได้ตรวจสอบในระบบของ สปสช.แล้วในช่วงเวลาตลอดปี 2567 ที่ผ่านมา มี 2 กรณีที่น่าสงสัย รายแรก พบว่า เบิกไป 318 ขวด จาก 118 ครั้ง ใน 31 สถานพยาบาล 

ส่วนรายที่ 2 เบิกไป 147 ขวด จาก 98 ครั้ง ใน 14 สถานพยาบาล ที่แต่ที่น่าสงสัยคือบุคคลรายที่ 2 นี้ เนื่องจากว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับเด็กด้วย เบื้องต้นทราบชื่อ และข้อมูลหมดแล้ว แต่ยังไม่ขอเปิดเผยในรายละเอียด อยู่ระหว่างตรวจสอบโดยละเอียด ซึ่งทาง สปสช.เอง จะลงไปสอบสวนด้วยตัวเอง และต้องดูว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร 

ขณะเดียวกัน เคยมีกรณีที่ผู้ป่วยตระเวนไปขอยา และหมอคงเห็นว่าคนไข้มารับยา เราก็ให้ไป แต่ส่วนใหญ่ที่เกิดกรณีแบบนี้ขึ้น จะเป็นในพื้นที่ที่ยังไม่มีการเชื่อมข้อมูลกัน บางครั้งเวลาหมอสั่งยา อาจไม่มีข้อมูลเชื่อมกันว่าบุคคลนี้เคยไปเอายามาแล้ว วันไหน เวลาใด จึงอาจทำให้เกิดแบบนี้ขึ้นได้ 

นพ.จเด็จ ยืนยันว่า กรณีนี้ ทาง สปสช. จะเอาผิดทางกฎหมายสำหรับบุคคลที่กระทำการดังกล่าวอย่างแน่นอน ซึ่งที่ผ่านมาเราเคยดำเนินการไปแล้ว 3 กรณีในฐานฉ้อโกง ซึ่งเอาผิดจนถึงที่สุด และ 3 กรณีได้ติดคุกไปแล้วด้วย 

เมื่อถามว่ายาดังกล่าวบุคคลทั่วไปสามารถเบิกรับได้กี่ขวด นพ.จเด็จ ระบุว่า ยาดังกล่าวต้องพ่นยา วันละ 3 ครั้ง 1 ขวดใช้ได้ประมาณ 2 เดือน เพราะฉะนั้นการใช้ยาสำหรับ 1 คนต่อปี คาดว่า 6 ขวดคงเพียงพอแล้ว ไม่ควรจะใช้กว่านี้ 

นพ.จเด็จ ยืนยันว่า เหตุการณ์แบบนี้ ส่งผลกระทบกับระบบประกันสุขภาพอย่างแน่นอน แม้ว่าจะเกิดขึ้นบ้างประปราย และจากนี้เราคงต้องเข้มเรื่องการตรวจสอบมากยิ่งขึ้น  เดิมทีเรื่องระบบของการตรวจสอบเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้ว แต่จากนี้จะต้องมีการตั้งค่า เมื่อมีการมากเบิกยา และหากเบิกมากเกินจำนวนที่กำหนด ต้องเรียกข้อมูลมาตรวจสอบแบบทันท่วงที ซึ่งเดิมทีเรามีระบบนี้อยู่แล้ว แต่บางครั้งทาง รพ.เอง อาจจะนัดคนไข้นาน จึงอาจให้ยากลับไปเป็นจำนวนมากก็มี ดังนั้น ต้องดูเรื่องความเหมาะสมด้วย 

นอกจากนี้ นพ.จเด็จ ยังได้ฝากทิ้งท้ายว่า ไม่อยากให้ทำแบบนี้ เพราะนอกจากจะทำลายระบบแล้ว ยังมีปัญหาทางคดีด้วย และหากมองอีกด้าน คือ ด้านทรัพยากร หากไม่ทำแบบนี้ เราก็จะมีทรัพยากร มียาให้ผู้ป่วยหรือคนอื่นๆเมื่อมีความจำเป็นด้วย และไม่ควรทำให้ราชการเสียงบประมาณโดยไม่จำเป็น 

อย่าหาทำนะคะแบบนี้ ระวังติดคุกหัวโต