เตือน! ใคร“นอนดึก-กินดึก”ระวังเป็นไขมันพอกตับ ลามเป็นมะเร็งไม่รู้ตัว! 

อย่าชะล่าใจ เป็นได้ทุกคนนะ! หมอเจด เตือน #นอนดึก #กินดึก เสี่ยงเป็นไขมันพอกตับ ลามเป็นมะเร็งไม่รู้ตัว! แนะ หากใครมีความเสี่ยงไขมันพอกตับ ให้ทานอาหารเสริม อย่าง โคลีน ช่วยได้

กลัวมั้ยล่ะแบบนี้! กินดึก-นอนดึก จะเสี่ยงโรคเอาหนา  

วันนี้(18 เม.ย.68) นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก หมอเจด เตือน สายกินดึก-นอนดึก ทั้งหลาย อาจมีความเสี่ยงไขมันพอกตับ และเสี่ยงเป็นมะเร็งไม่รู้ตัว  ใครไม่อยากเป็น ต้องปรับด่วน!  

“นอนดึก กินดึก” ระวังไขมันพอกตับ เสี่ยงมะเร็งไม่รู้ตัว!  

คนส่วนใหญ่ชอบคิดว่า “ไขมันพอกตับ” ไม่ใช่เรื่องของคนดื่มเหล้าหนักหรือคนที่อ้วนเท่านั้น แต่ถ้าใครมีพฤติกรรมแบบนี้ ต้องระวังไว้เลย  

-นอนดึก 

-ชอบกินข้าวดึก 

-ทำงานเป็นกะ (ไม่ตรงเวลา)  ชีวิตไม่เคยมีเวลาแน่นอน 

ขอบอกเลยว่า คุณเองก็เสี่ยงตับพังแบบไม่รู้ตัวและในระยะยาว มันไม่ได้หยุดแค่ไขมันพอกตับนะครับ เพราะ มันอาจลุกลามไปถึงมะเร็งตับได้เลย ถึงจะไม่เคยดื่มเหล้านะ 

วันนี้ผมขอสรุปแบบเข้าใจง่าย ๆ ลองอ่าน 5 ข้อนี้ดูครับ  

1. ตับกับสมองทำงานร่วมกัน  

ล่าสุดมีงานวิจัยจากวารสาร Metabolic Health and Disease (2025) ของทีม Gachon กับคณะ ที่ค้นพบว่า “ตับ” กับ “สมอง” มีการสื่อสารกันอยู่ตลอด ผ่านระบบที่เรียกว่า นาฬิกาชีวภาพ (biological clock) พอเราใช้ชีวิตแบบผิดจังหวะ เช่น กินข้าวผิดเวลา, นอนหลับไม่แน่นอน 

หรือทำงานกะดึกบ่อย ๆ จะทำให้ ตับเริ่มรวนและระบบเมตาบอลิซึมจะเสียสมดุล และ เกิดภาวะไขมันพอกตับ (MASLD) แต่ที่พีคคือ พอตับพัง มันดันส่งผลกลับไปที่สมองอีกทำให้วงจรการนอน อารมณ์ และพฤติกรรมบางอย่างรวนไปด้วย 

2. สมองไม่ได้สั่งอย่างเดียว ตับก็ส่งสัญญาณกลับได้นะ 

ในร่างกายเรามีเส้นประสาทที่คอยเชื่อมอวัยวะภายในกับสมองโดยเฉพาะเส้นที่ชื่อว่า vagus nerve และระบบประสาทอัตโนมัติ (ANS) มันคือสายสื่อสารระหว่างสมองกับตับ ซึ่งในคนที่เป็น MASLD ระยะที่ตับเริ่มมีพังผืด เส้นประสาทบางเส้นเริ่มเสื่อม ส่งสัญญาณไม่ปกติ สมองก็เลยรับข้อมูลผิด ๆ จากตับ ส่งผลให้จังหวะชีวิตทั้งร่างกายรวนหมดเลย ไม่แปลกเลยที่คนเป็นโรคตับเรื้อรังมักจะมีปัญหานอนไม่หลับ เพลียง่าย หรืออารมณ์แปรปรวนเพราะ “ตับส่งสัญญาณผิด” ไปหลอกสมอง 

3. ตับมี“นาฬิกาชีวภาพ”  

ตับมี “นาฬิกาชีวภาพ” เป็นของตัวเองนะครับไม่ได้รอแค่สมองสั่ง โดยนาฬิกานี้ถูกควบคุมด้วยยีน ที่ชื่อว่า BMAL1, CLOCK, PER, CRY ซึ่งจะหมุนวนตามรอบ 24 ชั่วโมง หน้าที่ของนาฬิกานี้คือช่วยให้ตับรู้ว่า 

-ควรผลิตน้ำดีเมื่อไหร่ 

-เผาผลาญไขมันตอนไหน 

-ปล่อยน้ำตาลเข้าเลือดยังไงให้พอดี 

แล้วอะไรเป็นตัวตั้งเวลาให้ตับ?  

คำตอบคือ “เวลาในการกิน” ถ้าเรากินตอนกลางคืน หรือกินดึกบ่อย ๆ จะทำให้ นาฬิกาตับรวน และการทำงานผิดจังหวะ ส่งผลให้เกิดการสะสมไขมัน และอักเสบเรื้อรัง ยิ่งไปกว่านั้น มันยังไปรบกวนนาฬิกาของลำไส้ กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อไขมันอีกด้วยเพราะงั้นกินให้ถูกเวลาตับก็ทำงานดีขึ้นนะ 

4. ไขมันพอกตับ ไม่ใช่แค่ตับอย่างเดียว 

งานวิจัยนี้ยังบอกอีกว่า MASLD โดยเฉพาะ MASH ที่มีการอักเสบร่วมด้วยสามารถส่งคลื่นกระแทกออกไปยังอวัยวะอื่น ๆ ทั่วร่างกายเลย เช่น 

-SCN (ศูนย์ควบคุมนาฬิกาชีวิตในสมอง) → นอนผิดเวลา ตื่นไม่สด 

-Arcuate nucleus → ทำให้รู้สึกหิวตลอดเวลา กินไม่หยุด 

-กล้ามเนื้อ → เผาผลาญน้ำตาลไม่ได้ดี → เสี่ยงเบาหวาน 

-ปอดกับภูมิคุ้มกัน → เพิ่มการอักเสบโดยไม่รู้ตัว 

 MASLD ไม่ใช่แค่โรคของ “ตับ” แต่เป็น โรคที่ทำให้ทั้งนาฬิกาชีวิตของร่างกายรวนหมด 

5. วิธีดูแลตับ 

นอกจากแค่ลดแป้ง ลดไขมัน งานวิจัยยังแนะนำต่อว่า การตั้งเวลาใหม่ให้ชีวิตคือกุญแจสำคัญ 

-กินเป็นเวลา เช่น กินในช่วง 8–10 ชม. ต่อวัน (time-restricted feeding) 

-นอนให้ตรงเวลา การฟื้นฟูตับจากพังผืดช่วยให้จังหวะนอนกลับมาดีขึ้นจริงในบางคน 

-ยากลุ่มใหม่ เช่น ROR / REV-ERB agonists กำลังทดลองในสัตว์ → ช่วยปรับจังหวะชีวภาพและลดไขมันตับได้ 

ฝากด้วยนะครับ ไขมันพอกตับไม่ใช่แค่โรคเงียบ แต่มันเป็นสัญญาณเตือนว่าเราใช้ชีวิตผิดอยู่ ลองกลับมาดูแลตัวเองด้วยสิ่งง่าย ๆ 

-นอนให้พอ 

-กินให้เป็นเวลา 

-ขยับร่างกายทุกวัน 

-ปรับการกิน ลดแป้ง และน้ำตาล 

ใครที่มีความเสี่ยงไขมันพอกตับ อาหารเสริมก็ช่วยได้นะครับ อย่างอาหารเสริมก็เป็นอีกทางเลือกช่วยได้ อย่าง โคลีน (Choline)  อันนี้เป็นตัวที่จะช่วยขับไขมันออกจากตับ โอเมก้า-3 ลดการอักเสบของตับ ทำตามนี้ก็จะลดความเสี่ยงได้นะครับ ไม่ต้องรอให้เจ็บก่อนแล้วค่อยรักษา”  

อย่างไรก็ตามอย่าลืมดูแลสุขภาพกันด้วยนะคะ ช่วงนี้โรคมาเยอะจริงๆค่ะ 

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก หมอเจด https://www.facebook.com/share/p/1ADzdsxVZZ/