ดร.ธนกฤต ชี้ ตึก 30 ชั้น สตง.ถล่ม ใครต้องออกเงินสร้างใหม่ 

ดร.ธนกฤต ชี้ตึก 30 ชั้นของ สตง.ถล่ม จากแผ่นดินไหวขนาด 8.2 สตง. หรือผู้รับจ้างต้องออกเงินสร้างใหม่?

เริ่มมีการพูดถึงในโซเชียลกรณีตึก 30 ชั้นของ สตง.ถล่มครื้นลงมา จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด 8.2 ที่มีจุดกำเนิดในประเทศเมียนมา สะเทือนถึงไทยเมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 นั้น ใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการจ่ายเงินสร้างใหม่?  

คำถามนี้มีคำตอบ! 

เมื่อวันที่ 29 มี.ค.68 ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการผู้เชี่ยวชาญ และอาจารย์พิเศษผู้บรรยายวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความ และกฎหมายพยานหลักฐาน ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า… 

ความรับผิดของผู้รับจ้างก่อสร้างกรณีตึก สตง. ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว 

กรณีตึกที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งมีกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์ซีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) เป็นผู้รับจ้างก่อสร้างจากการเสนอราคาต่ำสุดด้วยวงเงิน 2,136 ล้านบาท ได้ถล่มลงมาหลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 นั้น มีประเด็นเรื่องความรับผิดของผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างก่อสร้างที่น่าสนใจ ซึ่งผมขอให้ความเห็นส่วนตัวทางวิชาการเพื่อให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ท่านที่สนใจและเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องดังนี้ 

ผมขอตั้งสมมติฐานในการเขียนเรื่องนี้ว่า สตง. กับกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์ซีซี ทำสัญญาจ้างก่อสร้างโดยใช้แบบสัญญาจ้างก่อสร้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และในส่วนของเอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้างนั้นเป็นไปตามแบบเอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ของกรมบัญชีกลางที่คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐให้ความเห็นชอบแล้ว ซึ่งเป็นปกติของหน่วยงานของรัฐในการทำสัญญาจ้างก่อสร้างที่จะทำสัญญาตามแบบดังกล่าว โดยการจ่ายเงินค่าจ้างก่อสร้างเมื่อพิจารณาจากเนื้องานแล้วน่าจะเป็นการจ่ายค่าจ้างที่เป็นราคาเหมารวมโดยกำหนดการจ่ายเงินค่าจ้างเป็นงวด ๆ 

1. กรณีตึกถล่ม ใครต้องรับผิดชอบจ่ายเงินสร้างตึกใหม่ 

ตามแบบสัญญาจ้างก่อสร้างข้อ 11 วรรคสอง หากการที่ตึกถล่มลงมาเป็นเพราะความผิดของผู้รับจ้าง รวมทั้งเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยจากการเกิดแผ่นดินไหว แต่หากยังไม่มีการส่งมอบงานครั้งสุดท้าย ผู้รับจ้างต้องรับผิดในการก่อสร้างขึ้นมาใหม่ด้วยค่าใช้จ่ายของผู้รับจ้างเอง จะเรียกร้องเงินค่าจ้างก่อสร้างเพิ่มเติมจาก สตง. ไม่ได้ เว้นแต่การที่ตึกถล่มพังลงมานั้นเกิดจากความผิดของ สตง. ผู้ว่าจ้าง และตามแบบสัญญาจ้างก่อสร้าง ข้อ 13 กำหนดไว้ว่า ผู้รับจ้างจะมาอ้างเหตุจากการมีคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ผู้ควบคุมงาน เพื่อให้ผู้รับจ้างพ้นจากความรับผิดตามสัญญาไม่ได้ (การก่อสร้างตึกอาคารที่ทำการ สตง. แห่งใหม่ในครั้งนี้มีกิจการร่วมค้า PKW เป็นผู้ควบคุมงาน) 

2. กรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อคนงานของผู้รับจ้างและบุคคลภายนอก 

ตามแบบสัญญาจ้างก่อสร้างข้อ 12 วรรคสาม กำหนดให้ผู้รับจ้างต้องทำประกันภัยให้ลูกจ้างทุกคนที่จ้างมาทำงาน และข้อ 11 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ผู้รับจ้างต้องรับผิดต่ออุบัติเหตุ ความเสียหาย หรือภยันตรายใด ๆ อันเกิดจากการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างและต้องรับผิดในความเสียหายจากการกระทำของลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้รับจ้าง ดังนั้น คนงานที่ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต ก็จะได้รับเงินเยียวยาความเสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ผู้รับจ้างทำไว้ให้ และตามสิทธิที่มีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ส่วนบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหาย เป็นหน้าที่ของผู้รับจ้างที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น