
เคยรู้สึกกันบ้างไหม? เวลาอยู่ท่ามกลางแสงแดด จะรู้สึกเพลียผิดปกติ ล่าสุดมีผลวิจัยยืนยันว่า “อากาศร้อนจัด” ส่งผลต่อการทำงานของระบบดีเอ็นเอ และเซลล์เสื่อมสภาพ ซึ่งทำให้มนุษย์เกิดความชราเร็วขึ้นถึง 2.5 ปี

(27 ก.พ. 68) สื่อต่างประเทศ เปิดเผยงานตีพิมพ์จากวารสาร Science Advances ระบุว่า การสัมผัสความร้อนจัดเป็นเวลานาน อาจทำให้แก่ลง 2.5 ปี โดยอ้างอิงจากผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ร้อนของสหรัฐอเมริกา แสดงสัญญาณความชราที่เพิ่มขึ้นในระดับเซลล์
ด้านนักวิจัย จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย ได้วิเคราะห์ตัวอย่างเลือดจากผู้เข้าร่วมประมาณ 3,700 คนที่มีอายุ 56 ปีขึ้นไป โดยใช้ “นาฬิกาเอพิเจเนติก” (epigenetic clock) เพื่อวัดอายุชีวภาพ ซึ่งบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเอ ซึ่งได้เปรียบเทียบอัตราความแก่ทางชีวภาพ พร้อมกับข้อมูลค่าดัชนีความร้อน (heat index) ระหว่างปี 2010–2016 พบว่า การเผชิญกับความร้อนจัดเป็นระยะเวลานาน เชื่อมโยงกับความแก่เร็วขึ้น โดยอายุชีวภาพเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 2.48 ปี ซึ่งใกล้เคียงกับผลกระทบจากการสูบบุหรี่

โดยผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ร้อนจัดบ่อยครั้ง (อุณหภูมิมากกว่า 32.2°C) มีแนวโน้มจะแก่เร็วขึ้นในระดับโมเลกุล ทำให้เสี่ยงต่อโรคและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ยกตัวอย่างพื้นที่เมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา ซึ่งมีวันร้อนจัดเกือบครึ่งปี ผู้เข้าร่วมมีอายุชีวภาพเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 14 เดือน เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่มีวันร้อนจัดน้อยกว่า 10 วันต่อปี
ดร.อึนยอง ชอย ผู้ร่วมวิจัยกล่าวว่า “แค่คุณอาศัยอยู่ในที่ที่มีวันร้อนจัดมาก คุณก็อาจแก่เร็วขึ้นแล้ว” ซึ่งงานวิจัยระบุว่า ผู้ที่มีอายุชีวภาพสูงกว่า มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ สมองเสื่อม และภาวะอ่อนแอทางร่างกายมากขึ้น
ทั้งนี้ นักวิจัยกล่าวทิ้งท้ายว่า หากไม่มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ความร้อนจัดจะกลายเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุซึ่งร่างกายควบคุมอุณหภูมิได้ไม่ดี เมื่อต้องเผชิญกับโลกที่ร้อนขึ้น จึงต้องวางแผนเพื่อปกป้องตัวเองจากความร้อน
ขอบคุณข้อมูล : Independent