ศาลเคาะแล้ว ผลการพิจารณา ข้อพิพาทที่ดิน ระหว่าง ชาวบ้าน – อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด

27 มิถุนายน 2567 ศาลปกครองเพชรบุรี นัดฟังผลคำพิพากษา คดีพิพาทที่ดินทับซ้อน ชาวบ้าน ฟ้องร้อง อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อีก 1 พื้นที่เกิดข้อพิพาท ระหว่างชาวบ้าน กับ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งครั้งนี้เกิดขึ้นที่ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์

โดยวันที่ 27 มิถุนายน 2567 ศาลปกครองเพชรบุรี นัดอ่านคำพิพากษา กรณีนาย ประสาร (ชาวบ้านในพื้นที่เขาสามร้อยยอด) ยื่นฟ้อง กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน ในคดี เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เนื่องจาก นายประสาร ยื่นคำร้องต่อศาล ปมเอกสิทธิ์ที่ดินทำกิน ภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด
โดยแจ้ง 3 ข้อกล่าวหา คือ

ที่ 1 การคัดค้านการออกโฉนดที่ดิน เป็นไปไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไม่พิจารณาออกที่ดินให้

2. มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างลงในที่ดินของนายประสาร โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

และ 3. มีการขึ้นทะเบียนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด 10 รายการ ลงบนที่ดินของนายประสาร ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างในครอบครองของรัฐ ที่ปลูกอยู่บนที่ดินที่ไม่ใช่ราชพัสดุ


โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทของ นายประสาร ไม่สามารถค้นหาหลักฐาน ส.ค.๑ ฉบับที่เก็บอยู่กับเจ้าของที่ดินมาแสดงได้

ทั้งยังปรากฏว่า เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตรวจค้นแล้วไม่พบหลักฐาน ส.ค.๑ ที่เป็นคู่ฉบับเก็บอยู่ที่สำนักงานที่ดินจังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ เช่นกัน

จากรายงานผลการวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศและแผนที่ พบว่าเป็นการอ่าน แปลภาพถ่ายทางอากาศ ที่มีการถ่ายภาพในปี พ.ศ. 2498 ปี พ.ศ. 2513 ปี พ.ศ. 2519 ปี พ.ศ. 2537 ปี พ.ศ. 2546 และ ปี พ.ศ. 2557

ซึ่งแม้ว่าจะมีร่องรอยการทำประโยชน์หรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อวินิจฉัยแล้ว ที่พิพาทได้ตกเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งต่อมาเป็นเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดแล้ว การเข้าไปทำประโยชน์ในที่พิพาท จึงเป็นการเข้าไปในที่ดินของรัฐที่สงวนหวงห้ามไว้

ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2502 ให้จัดตั้งพื้นที่ธรรมชาติเป็นอุทยานแห่งชาติ

จากนั้นเมื่อมีความจำเป็นต้องขยายเขตอุทยานแห่งชาติป่าเขาสามร้อยยอด ในท้องที่ ต.สามร้อยยอด ต.ศิลาลอย ต.ไร่เก่า อ.ปราณบุรี และ ต.สามกระทาย ต.ดอนยายหนู ต.เขาแดง อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ.2525 ขึ้น

จึงเห็นได้ว่าการประกาศขยายเขตอุทยานแห่งชาติป่าเขาสามร้อยยอด มีจุดประสงค์เพื่อขยายเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ บริเวณที่เป็นทะเลรอบ ๆ เกาะโครำ เกาะนมสาว เกาะระวิงระวาง เกาะขี้นก และเกาะสัตกูด รวมทั้งบริเวณพื้นที่ที่เป็นทุ่งสามร้อยยอด หรือพื้นที่ชุ่มน้ำ ลำดับที่ 11 ของประเทศไทย ลำดับที่ 2,238 ของโลก และมีการขยายเขตบริเวณหาดสามพระยา ไปจนถึงปากคลองเขาแดง ซึ่งปัจจุบันเป็นหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติย่อย (สามพระยา) รวมไปถึงบริเวณหลังที่ทำการอุทยานแห่งชาติสามร้อยยอด ที่เป็นชายหาด แปลงปลูกป่าชายเลน จนไปถึงเขาแร้ง บ้านทุ่งน้อย ต.เขาแดง อ.กุยบุรี

สำหรับหลักฐานเดิมที่นายประสาร ใช้อ้างเพื่อขอออกโฉนดที่ดิน ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน นั้น เป็นเพียงทะเบียนการครอบครองที่ดิน โดยไม่มีหลักฐาน เป็น ส.ค.๑ ฉบับจริง หรือ สำเนาดังกล่าวมาแสดงแต่อย่างใด แม้จะปรากฎข้อมูลว่า บิดาของนายประสาร เป็นผู้แจ้งการครอบครองพื้นที่ดังกล่าว

นอกจากนี้ข้อความที่ปรากฏในสำเนาทะเบียนการครอบครองที่ดินที่นายประสาร ได้มาจากสำนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่มีการระบุว่า มีการออก น.ส.๓ แล้ว

แต่สำเนาทะเบียนการครอบครองที่ดินที่ได้มาจากกรมที่ดิน ไม่มีการระบุไว้ว่ามีการออก น.ส.๓

จะเห็นได้ว่ามีข้อความไม่ตรงกัน จึงไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานประกอบการยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะรายได้

พื้นที่พิพาทดังกล่าว ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติย่อย (หาดสามพระยา) ของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530

และตลอดเวลาตั้งแต่ที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดได้เข้าไปตั้งหน่วยพิทักษ์ฯ ได้มีการก่อสร้างอาคาร สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ โดยไม่ปรากฏว่ามีราษฎรรายใดหรือบุคคลใดทำประโยชน์ในพื้นที่นั้น

ประกอบกับได้มีการออกเป็นกฎกระทรวง ฉบับที่ 100 (พ.ศ.2505) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่า พุทธศักราช 2481 ให้เป็นป่าสงวน

จึงเห็นได้ว่า ก่อนปี พ.ศ. 2505 พื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นพื้นที่ป่า ไม่มีราษฎรเข้าไปทำประโยชน์แต่อย่างใด และจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง สอบถามอดีตกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อดีตเจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้ข้อมูลตรงกันว่า ก่อนที่จะมีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 เป็นต้นมา พื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นป่าธรรมชาติรกร้าง ไม่พบบุคคลใดเข้าไปทำประโยชน์ พบแต่เพียงการใช้ประโยชน์ชั่วคราว อีกทั้ง ยังให้ข้อเท็จจริงไปในทางเดียวกันว่า ไม่เคยพบเห็น บิดาของนายประสาร หรือบุคคลใดเข้าไปทำประโยชน์หรือทำการเกษตรตามที่ระบุไว้ในสำเนาทะเบียนการครอบครองที่ดิน

หลังฟังคำพิพากษา
ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี เปิดใจว่า

เรามีหน้าที่ในการรักษาพื้นที่ที่เป็นป่าสมบูรณ์ ให้เป็นมรดก ให้เป็นสมบัติของคนรุ่นหลังต่อ เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่าที่ดินมันเป็นที่ของใคร ที่สำคัญคือการได้มาถูกต้องหรือเปล่า? อย่าคิดโลภ อย่าคิดสูง ที่จะมาฮุบที่ที่เป็นสมบัติของชาติไปเป็นสมบัติของตัวเอง
มันเป็นเรื่องของจิตสำนึก

นายสมเจตน์ จันทนา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี

ด้าน นายพงศธร พร้อมขุนทด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด กล่าวว่า

“คนที่ฟ้องเขาย่อมรู้ดีอยู่แก่ใจ ราษฎรถ้ามีสิทธิ์โดยชอบธรรมจริง เราให้อยู่แล้ว เพราะเรารู้ว่าทุกคนต้องการที่ทำกิน แต่ถ้าที่ได้มาโดยมิชอบ มันก็จะเป็นปัญหา

โดยเฉพาะถ้าประชาชนได้สิทธิ์ไปแล้ว และมีการขายสิทธิ์ไปให้นายทุนยิ่งแล้วใหญ่ เพราะนายทุนจะไม่ได้มองเรื่องอนุรักษ์แล้ว เขาจะมองแค่เรื่องผลประโยชน์