
อุทาหรณ์เตือนใจทาสหมา-แมว ใช้เครื่องอบโอโซนในห้องที่มีสัตว์เลี้ยง เป็นก๊าซพิษ อันตรายถึงชีวิต

เป็นเรื่องราวที่น่าเศร้าใจ กับเจ้าของสัตว์เลี้ยงค่ะ เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อ Grace Kotchapan โพสต์คลิปเล่าเหตุการณ์ ที่ต้องเตือนใจใครหลายๆ คน ในการใช้เครื่องอบโอโซนในห้อง ที่มีสัตว์เลี้ยองยู่ โดยเธอเล่าว่า
ในห้องสัตว์เลี้ยงดังกล่าว ใช้เลี้ยงน้องแมว 12 ตัว และหมาพันธุ์เล็กอีก 5 ตัว โดยจะใช้เครื่องอบโอโซนในการฆ่าเชื้อ และลดกลิ่นเหม็น

แต่ในวันที่เกิดเหตุ หลังจากทำความสะอาดห้องเรียบร้อยดีแล้ว เธอได้ปิดสวิตช์เครื่องโอโซน แต่ไม่ได้ถอดปลั๊ก สันนิษฐานว่า เครื่องโอโซนทำงานเองตลอดเวลา จนล่วงเลยมาช่วงเช้าของอีกวัน น้องหมาในห้อง เกิดหายใจติดขัด อ่อนเพลีย อาการเริ่มไม่ค่อยดี จึงพาหมา 3 ตัวที่อาการหนัก ไปหาสัตวแพทย์ตรวจเช็คอาการ ก่อนกลับมาบ้าน ก็กลายเป็นเรื่องที่น่าเศร้า เมื่อเปิดประตูห้องนั้นอีกครั้ง พบว่า แมว 4 ตัวที่อยู่ในห้องเดียวกัน ตายเกลื่อนในห้อง…
นั่นทำให้คนเป็นเจ้าของ เสียใจอย่างถึงที่สุด เพราะยืนยันว่าเธอไม่ได้เปิดเครื่องทิ้งไว้แน่นอน



ในกรณีนี้ ด้าน อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า “ก๊าซโอโซน เป็นก๊าซพิษ” จะนำมาใช้กัน ต้องระมัดระวังสูงมากๆ โดยเฉพาะกับในห้องที่มีคนและสัตว์เลี้ยงอาศัยอยู่

โอโซนเป็นก๊าซที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น เกิดจากฟ้าผ่า หรือแสงจากดวงอาทิตย์ ซึ่งโอโซนเกิดจากการรวมตัวกันของก๊าซออกซิเจน และอะตอมออกซิเจน โดยการกระตุ้นของรังสีอัลตราไวโอเลตซี (UV-C) ปรากฏอยู่ในชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์ (Stratosphere) หรือชั้นที่มีโอโซนหนาแน่นที่สุด ทำหน้าที่เป็นเกราะคุ้มกันปกป้องสิ่งมีชีวิตบนโลก จากรังสีที่มาจากดวงอาทิตย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรังสีอัลตราไวโอเลตบี (UV-B) ที่เป็นอันตรายต่อชีวิต
แต่ขอย้ำว่า “โอโซนเป็นก๊าซพิษ” เป็นก๊าซที่ทำอันตรายต่อมนุษย์ และสัตว์เลี้ยงได้ หากสูดโอโซนเข้าไปมาก ๆ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ปวดศีรษะ, แน่นท้อง, ท้องเสีย และอาเจียน ส่งผลเสียกับปอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีระบบภูมิต้านทานไม่แข็งแรงพอ การอยู่ในพื้นที่ที่มีก๊าซโอโซนจากอุตสาหกรรมและการคมนาคม มากๆ ไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรม และย่านริมถนนในกรุงเทพมหานคร ก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
แม้ก๊าซโอโซนจะถูกจัดให้เป็นหนึ่งในก๊าซพิษ แต่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน เช่น นำไปใช้เป็นสารซักฟอก ช่วยในการฟอกสี สามารถนำไปบำบัดน้ำเสียให้น้ำสะอาดได้ นอกจากนี้ ยังช่วยยับยั้งการเติบโตของเชื้อโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย ทั้งยังช่วยสลายก๊าซพิษต่าง ๆ ทำให้อากาศสะอาดบริสุทธิ์ขึ้น ดังเช่นที่เอามาทำเป็นพวก “เครื่องอบโอโซน”
โดย อ.เจษฎา ยังให้คำแนะนำเรื่อง “การอบโอโซนอย่างไรให้ปลอดภัย” (รวบรวมโดย บ. CKKEQUIPMED ) มาเผยแพร่เป็นแนวทางสำหรับบ้านที่ใช้เครื่องอบโอโซน ดังนี้
1. ทำความรู้จักโอโซน
โอโซนคือโมเลกุลที่ประกอบด้วยออกซิเจน 3 อะตอม ซึ่งมีคุณสมบัติต่างๆ รวมถึงการฆ่าเชื้อโรค จึงมีการนำโอโซนมาใช้ในการกำจัดสิ่งไม่พึงประสงค์บางชนิดในอากาศ หรือที่เรียกว่า “การอบโอโซน” เครื่องผลิตโอโซน จะแปลงออกซิเจนให้กลายเป็นโอโซน อะตอมออกซิเจนอะตอมหนึ่งในโอโซน จะแยกตัวออกมาจับตัวกับสิ่งไม่พึงประสงค์ในอากาศ แล้วระงับการทำงานของสิ่งเหล่านั้น ส่วนโอโซน เมื่อเหลืออะตอมออกซิเจน 2 อะตอม ก็เท่ากับว่าได้คืนสภาพเป็นออกซิเจน ที่มนุษย์ใช้หายใจโดยอัตโนมัติ ต้องใช้งานด้วยความระมัดระวัง เพราะโอโซนมีพิษกับระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ หากสูดดมเข้าไปในปริมาณมาก อาจเกิดอาการไอ คันคอ หายใจไม่ออก รวมทั้งอาจทำให้เนื้อเยื่อปอดเสียหายได้
2. พื้นที่อบโอโซนไม่ควรมีคนหรือสัตว์เลี้ยงอยู่
หากจะปล่อยโอโซนออกมาฆ่าเชื้อหรือกำจัดสารเคมีต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต้องปล่อยโอโซนออกมา ในระดับที่ “เกิน” ค่ามาตรฐานที่มนุษย์รับได้ ในไทย คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศ ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นโอโซนต่อ 1 ชั่วโมงไม่ให้เกิน 0.10 ppm และต่อ 8 ชั่วโมงไม่ให้เกิน 0.07 ppm) การอบโอโซน จึงควรทำในพื้นที่ที่ไม่มีคนอยู่ในเวลานั้น ผู้อบโอโซนไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้อง เพราะเครื่องผลิตโอโซน มักจะตั้งเวลาการทำงานได้ ดังนั้น ควรตรวจสอบให้แน่ชัดเช่นกันว่า ไม่มีสัตว์เลี้ยง หรือพืชกระถาง คงเหลืออยู่ในพื้นที่
3.ควรปิดพื้นที่ที่มีการอบโอโซน
โอโซนอาจเล็ดรอดออกไปสู่พื้นที่ใกล้เคียง และก่ออันตรายกับผู้คนในบริเวณดังกล่าว จึงควรอบโอโซนในพื้นที่ปิด ปิดประตูและหน้าต่างของพื้นที่ที่มีการอบโอโซนอย่างแน่นหนา และตรวจสอบให้แน่ใจว่า ไม่มีรูหรือช่องเปิด ที่จะทำให้โอโซนแพร่กระจายออกมาจากพื้นที่นั้นได้
4.ระมักระวังวัสดุที่อาจถูกโอโซนกัดกร่อน
สิ่งของบางประเภทอาจเสียหายจากฤทธิ์กัดกร่อนของโอโซน สามารถทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางแตกหัก เส้นใยผ้าจะเปราะบางลง สีย้อมผ้าและเม็ดสีบางประเภทในภาพเขียน จะจางลง ดังนั้น หากต้องการรักษาสภาพสิ่งของไม่ให้ถูกโอโซนกัดกร่อน ก็ควรจะนำสิ่งของเหล่านั้น ออกไปจากพื้นที่เสียก่อน
5.รอให้โอโซนสลายตัว หลังอบโอโซนเสร็จ
อาจจะต้องรอครึ่งชั่วโมง ถึง 2 ชั่วโมงเพื่อให้โอโซนที่หลงเหลืออยู่ในพื้นที่สลายตัว ก่อนจะกลับเข้าไปในพื้นที่อีกครั้ง หากโอโซนยังหลงเหลือในปริมาณมาก มนุษย์ก็สามารถได้กลิ่นดังกล่าว อย่างไรก็ตาม โอโซนสามารถทำให้มนุษย์สูญเสียความสามารถในการได้กลิ่นโอโซนอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การไม่ได้กลิ่น จึงไม่ได้หมายความว่า ไม่มีโอโซน
6.ควรกำจัดสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ที่ต้นตอ
ควรจัดการกับแหล่งที่มา เช่น ถ้าในห้องมีกลิ่นเหม็นเพราะมีขยะอยู่ ก็ควรจัดการขยะให้เรียบร้อย มิฉะนั้น ต่อให้โอโซนดับกลิ่นเหม็นไปแล้ว กลิ่นก็จะยังกลับมา
7.ปฏิบัติตามคู่มือและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้งาน
โอโซนอาจทำปฏิกิริยาทางเคมีกับสารเคมีที่มีอยู่ในพื้นที่ ทำให้เกิดสารที่อาจทำให้ระคายเคืองเมื่อมีปริมาณมากเพียงพอได้ ผู้ใช้งานจึงควรจะปฏิบัติตามคู่มือของเครื่องผลิตโอโซน และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนการใช้งาน
อีจันขอแสดงความเสียใจ ต่อการสูญเสียสัตว์เลี้ยงที่รักไปด้วยนะคะ
