ทำตาม 4 ข้อนี้ ลดความเสี่ยง “ไตรกลีเซอร์ไรด์สูง” 

ป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด! หมอเจด เผย ทำตาม 4 ข้อนี้ ลดความเสี่ยง “ไตรกลีเซอร์ไรด์สูง”ได้ ชี้ คนอายุน้อยๆก็เป็นได้ง่าย หากไม่คุมเรื่องอาหารให้เข้มงวดพอ

ใครเคยตรวจเจอค่าไตรกลีเซอร์ไรด์สูงบ้าง? 

วันนี้ (22 เม.ย.68) นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก หมอเจด เผยเกี่ยวกับ  4  ทริกต้องทำ! หากไม่อยากมีค่าไตรกลีเซอร์ไรด์สูง 

โดยหมอได้ระบุข้อความว่า…  

“ไม่อยากไตรกลีเซอร์ไรด์สูง ต้องทำ 4 อย่างนี้ !  

ทุกคนเชื่อไหมว่าเดี๋ยวนี้คนอายุน้อยไตรกลีเซอไรด์สูงกันเยอะมากนะ บางคนก็ไม่ได้อ้วนเลยนะ กินไม่เยอะ ออกกำลังก็พอมีบ้าง อย่างเคสที่ล่าสุดที่ผมเจอ เป็นผู้หญิง อายุ 20 กว่าๆ ดูสุขภาพดี น้ำหนักไม่เกินเกณฑ์เลย แต่พอตรวจเลือด ค่าไตรกลีเซอไรด์ขึ้นไป 170 mg/dL เลย ซึ่งค่าปกติเนี่ย ควรไม่เกิน 150 mg/dL นะซึ่งการที่เกินเนี่ยมันเสี่ยงหลายโรคเลยด้วย 

วันนี้เราเลยอยากมาเล่าให้ฟัง ว่าเราจะทำยังไงค่าไตรกลีเซอร์ไรด์จะไม่สูง 

1. ไตรกลีเซอไรด์คืออะไร แล้วถ้าสูงมันแย่ยังไง? ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนนะ ไตรกลีเซอไรด์มันคือ “ไขมันในเลือด” ชนิดหนึ่งที่ร่างกายเราได้มาจากของที่เรากินเข้าไปโดยเฉพาะ น้ำตาล แป้ง และของมันๆ ถ้ากินเกินไป ร่างกายจะเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอไรด์แล้วเก็บไว้ในร่างกาย ทีนี้ ถ้ามันสูงเกินไปนะ (คือเกิน 150 mg/dL) มันจะเพิ่มความเสี่ยงหลายอย่างเลย อย่างเช่น 

-เสี่ยง เส้นเลือดหัวใจตีบ → ถ้าอุดตันหนักๆ นี่คือหัวใจวายได้นะ 

-เสี่ยง เส้นเลือดสมองตีบ → พูดง่ายๆ คือเสี่ยง “อัมพฤกษ์ อัมพาต” บางคนติดเตียงเลยนะครับ 

-เสี่ยง ไขมันพอกตับ → อันนี้หนักเลย เพราะถ้าปล่อยไว้ยาวๆ อาจถึงขั้น ตับแข็ง หรือ มะเร็งตับ ได้เลย 

ฟังดูแล้วน่ากลัว แต่มัน “ป้องกันได้” 

2. ลดน้ำตาล ลดแป้งขัดสี ของที่ทำให้ไตรกลีเซอไรด์พุ่งสูงแบบไม่รู้ตัว คือพวก แป้งขัดขาว น้ำตาล และของหวาน ทั้งหลายเลย เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว เค้ก ชานมไข่มุก น้ำอัดลม ขนมจุกจิกทั้งหลายเพราะฉะนั้นวิธีที่ผมแนะนำเลยนะคือ 

-ลดพวกแป้งขัดสี เช่น ข้าวขาว เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมปังขาว 

-เลี่ยงของหวานๆ น้ำอัดลม น้ำผลไม้กล่อง 

-เปลี่ยนมาทานพวก ข้าวกล้อง, ข้าวควินัว, ขนมปังโฮลวีท 

-เลือกคาร์บแบบดีๆ ที่ย่อยช้า ไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่ง 

จำไว้นะ ไม่ได้ห้ามกินแป้ง แต่ขอให้ “เลือกแป้ง” ที่ดีหน่อย ไตรกลีเซอไรด์จะได้ไม่พุ่งจ้า 

3. การออกกำลังกาย หลายคนเข้าใจว่าแค่เดินชิลๆ วันละนิดก็พอแล้ว แต่ความจริงแล้วการออกกำลังกายที่ช่วยลดไตรกลีเซอไรด์ได้จริง ต้องเหนื่อยระดับหนึ่ง ถึงจะเห็นผล โดยเฉพาะการออกแบบ แอโรบิก เช่น เดินเร็ว วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ฯลฯ ที่หัวใจเต้นแรงขึ้น 

แนะนำแบบนี้นะว่า 

-ให้เหนื่อยจน “พูดเป็นประโยคไม่ได้” (เรียกว่า Moderate to Vigorous Intensity) 

-ถ้ามีเครื่องวัดหัวใจ อาจตั้งเป้าให้อยู่ที่ Zone 2 ขึ้นไป 

-ทำให้ได้ อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ 

สิ่งนี้นอกจากจะลดไตรกลีเซอไรด์ได้แล้ว ยังช่วย เพิ่ม HDL (ไขมันดี) ซึ่งดีต่อหัวใจด้วยครับ 

4. แอลกอฮอล์ น้ำหวาน เลิกเถอะ ถ้าอยากลดจริงจัง แอลกอฮอล์เนี่ยแนะนำงดเลย บางคนคิดว่า ดื่มนิดๆ ไม่เป็นไรแต่ความจริงคือ มันทำให้ไตรกลีเซอไรด์พุ่งแรงมาก โดยเฉพาะเบียร์ ไวน์ หรือค็อกเทลหวานๆ รวมถึง พวกน้ำหวานทุกชนิด เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้กล่อง ชานม หรือเครื่องดื่มที่ใส่น้ำตาลสูงๆ ถ้าอยากลดจริง แนะนำให้ งดแบบเด็ดขาด ช่วงแรกก่อน แล้วร่างกายจะค่อยๆ ปรับสมดุลเอง รู้สึกได้เลยว่าร่างกายเบาขึ้น 

5. อย่าขาดโอเมก้า 3 สมาคมโรคหัวใจอเมริกัน (AHA) เองก็แนะนำว่า คนที่มีไตรกลีเซอไรด์สูงควร กินโอเมก้า 3 วันละ 1,000 มิลลิกรัม อย่างสม่ำเสมอ 

ซึ่งโอเมก้า-3 มีใน 

-ปลาไขมันดี เช่น แซลมอน แมคเคอเรล ซาร์ดีน 

-น้ำมันปลา (Fish Oil) ที่มี EPA + DHA สูง 

-หรืออาหารเสริมโอเมก้า-3 ที่ได้มาตรฐาน 

โอเมก้า-3 จะช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด และช่วยลดการอักเสบในหลอดเลือดได้ด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ “เวิร์กและปลอดภัย” 

เอาจริงๆ เลยนะ ไตรกลีเซอไรด์สูงมันไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย ยิ่งคนอายุน้อยๆ ยิ่งเจอได้บ่อยขึ้น อย่าลืมดูแลตัวเองตามที่ผมแนะนำไปนะ ไม่ต้องรอให้ป่วยก่อน” 

หากใครไม่อยากเป็น อย่าลืมดูแลตัวเองนะคะ สุขภาพจะได้ดีๆไม่ต้องเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายค่ะ 

ขอบคุณข้อมูลจาก เพจ หมอเจด https://www.facebook.com/share/p/197C3maX2S/