
“แท่นวัชรอาสน์” (จำลอง) มาประดิษฐานในประเทศไทย โดย สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (สมเด็จธงชัย) ได้อัญเชิญมาประดิษฐาน อยู่ที่วัดแหลมแค เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา
ล่าสุดวันที่ 7 พ.ค. 67 สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (สมเด็จธงชัย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ได้กล่าวที่มาที่ไปของ “แท่นวัชรอาสน์” ไว้ว่า

ครั้นเมื่อภายหลังพุทธกาลล่วงได้ 200 ปีเศษ พระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งชมพูทวีปได้เสด็จไปนมัสการ ณ สถานที่ตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกครั้งที่พระองค์เสด็จมาพระองค์ได้นำเครื่องสักการบูชามาเป็นจำนวนมาก เพื่อทรงสักการบูชาแก่ต้นพระศรีมหาโพธินั้นซึ่งเป็นเสมือนดังตัวแทนองค์ซึ่งได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว
ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงดำริที่จะสร้างเครื่องรองรับของสักการบูชาที่พระองค์ทรงนำมาจากพระราชวัง จึงมีพระราชโองการให้หาช่างที่มีฝีมือเข้ามาเฝ้า แล้วทรงปรึกษากับบรรดาช่างเหล่านั้นโดยได้ทรงเสนอแนะให้ข้อคิดถึงรูปลักษณะในการที่จะสร้างเครื่องรองรับของสักการบูชาเหล่านั้น
พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงสร้างพระแท่นวัชรอาสน์เพื่อแทนพระแท่นรัตนบัลลังก์เก่าที่บังเกิดขึ้นแก่พระตถาคตเจ้าในวันตรัสรู้ หลังจากที่ได้ทรงประดิษฐานพระแท่นที่รองรับเครื่องสักการบูชาแล้ว พระองค์จึงได้พระราชทานนามแห่งพระแท่นนั้นว่า “พระแท่นวัชรอาสน์” ซึ่งหมายความว่า “พระที่นั่งแห่งมหาบุรุษผู้มีใจเพชร”

โดยรูปลักษณะของพระแท่นวัชรอาสน์ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านขนาน สลักด้วยแผ่นหินส่วนบนพื้นผิวด้านหน้าของพระแท่นแกะสลักเป็นเชิงศิลปะรูปหัวแหวนเพชรและมีเพชรซีกประดับอยู่โดยรอบเรือนแหวน ด้านข้างแกะสลักเป็นพญาหงส์ 2 ตัว กำลังไซ้หาอาหารที่ดอกไม้ชื่อว่า “มณฑารพ” ซึ่งตามตำนานแล้ว ดอกไม้นี้จะร่วงลงมาจากสวรรค์ก็ต่อเมื่อพระพุทธเจ้า “ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน”


ก็เปรียบได้ว่าการที่จะได้ขึ้นมาอยู่บนแท่นวัชรอาสน์ได้นั้น ต้องได้อริยบุคคล 4 อย่าง คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ หมายความว่า ใครที่จะมานั่งบนนี้ได้ต้องเป็นคนค้นคว้า ต้องแสวงหา ต้องปฏิบัติธรรม อีกทั้ง แท่นวัชรอาสน์ ยังซ้อนพระกรรมฐานไว้ข้อหนึ่งจารึกอยู่บนแผ่นทอง เพื่อให้พระที่ไปปฏิบัติธรรมได้ฝึกธรรม แผ่นทองนั้นจารึกว่า “หงษ์ทองทั้งคู่ ตัวหนึ่งอยู่ ตัวหนึ่งไป ผู้ใดตีปริศนาธรรมนี้ได้ ผู้นั้นจะสำเร็จ”
โดย สมเด็จธงชัย ได้เฉลยปริศนาธรรมนี้ว่า “หงษ์ตัวหนึ่งที่อยู่ก็คือ หายใจเข้า (พุทธ) หงษ์อีกตัวหนึ่งที่ไปก็คือ การหายใจออก (โธ)” นี้ก็คือลายแท่งกรรมฐานที่พระเจ้าอโศกมหาราชกับพระอริยบุคคลในยุคนั้น ได้จารึกไว้ในฐานแห่งนี้

สำหรับกำหนดการของพิธีประดิษฐาน “แท่นวัชรอาสน์” ณ ลานธรรมหลวงปู่ทวด ที่วัดแหลมแค ต.หน้าประดู่ อ.พานทอง จ.ชลบุรี จะจัดขึ้นในวันที่ 10-12 พ.ค. 67 ซึ่งทั้ง 3 วันนี้ จะแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลาดังนี้
ช่วงเช้า
เวลา 08.30 น. ประกอบพิธีปะกำช้างตามประเพณีพิธีโบราณ
เวลา 09.30 น. ประกอบพิธีบวงสรวง
เวลา 10.00 น. พระสงฆท์รงสมณศักดิ์ 10 รูป เจริญพระพุทธมนต์
เวลา 11.00 น. ถวายภัตตาหารเพล
ช่วงเย็น
ตั้งแต่เวลา 17.00 น. จะเป็นการประกอบพิธีบวงสรวงเต็มรูปแบบ
-ประธานในพิธีถวายน้ำรดต้นปรมัตถสิริมหาโพธิหน่อเนื้อพุทธางกรู
-ประธานในพิธีถวายสักการะ / ปิดทองพระแท่นวชัรอาสน์
-ประธานในพิธีจุดธูป-เทียนบูชาพระรัตนตรัย
-พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์จำนวน 500 รูปเจริญพระพุทธมนต์บทธรรมจักรกัปปวัตนสูตร
-พระสงฆ์ทั้งนั้นอนุโมทนา
-ประธานในพิธีพร้อมคณะปลูกต้นมณฑาทิพย์ (มณฑารพ)
-เสร็จพิธี

ทั้งนี้ สมเด็จธงชัย กล่าวว่า ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทุกท่านเข้าร่วมพิธี เพราะมีความเชื่อมั่นและมีความบริสุทธิ์ใจจากการกระทำครั้งนี้ ไม่ได้มุ่งหวังเงินทองอะไรใดๆ ทั้งสิ้น มุ่งหวังเพียงสิ่งเดียวคือให้เป็นบุญเป็นกุศลแก่ทุกคนที่กราบไหว้ ซึ่งการไปกราบไปไหว้ไม่ใช่ประโยชน์แค่ตนเท่านั้น ยังสามารถแผ่ให้ครอบครัว แผ่ให้สังคม แผ่ให้ประเทศชาติ ได้อีกทางด้วย