
วันนี้ลูกเพจออกกำลังกายหรือยังคะ? การออกกำลังกายเป็นประจำทำให้ร่างกายแข็งแรง แถมยังช่วยให้ห่างไกลโรคอัลไซเมอร์ด้วยนะ
ล่าสุดวันนี้ ( 20 ก.พ.68 ) ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท ได้โพสต์งานวิจัยเกี่ยวกับการออกกำลังกายและความจำ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์ ระบุว่า…
“ออกกำลังกายประจำ ในช่วงว่าง สมองส่วนความจำ Hippocampus ฟู ห่างอัลไซล์เมอร์
การศึกษาจาก UCL เป็นการวัดปริมาตรสมอง ส่วนเกี่ยวกับความจำ หรือ ตรง hippocampus ที่ลักษณะคล้ายม้าน้ำที่ซ่อนตัวในสมอง โดยที่สมองส่วนนี้เหมือนกล่องเก็บความจำ

เกี่ยวกับการศึกษา
งานวิจัยนี้ใช้ข้อมูลจากโครงการ 1946 British birth cohort study (Insight 46) ซึ่งติดตามผู้เข้าร่วมจำนวน 468 คน เป็นเวลากว่า 30 ปี โดยเก็บข้อมูลเกี่ยวกับ กิจกรรมทางกายในเวลาว่าง (Leisure-Time Physical Activity: LTPA) ตั้งแต่อายุ 36 ถึง 69 ปี และตรวจสมองเมื่ออายุ 70 ปีด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง (MRI และ PET scans) เพื่อตรวจหาสัญญาณเริ่มต้นของโรคอัลไซเมอร์ เช่น:
-โปรตีนอะไมลอยด์-เบต้า (Amyloid-beta: Aβ) สารสะสมที่พบในสมองผู้ป่วยอัลไซเมอร์
-ปริมาตรฮิปโปแคมปัส (Hippocampal volume) ส่วนของสมองที่เกี่ยวข้องกับความจำ
-ความหนาของเยื่อหุ้มสมอง (Cortical thickness) บริเวณสมองที่มักถูกทำลายในโรคอัลไซเมอร์
ผู้เข้าร่วมถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มตามรูปแบบการออกกำลังกาย
-ไม่เคยออกกำลังกายเลย
-ออกกำลังกายเฉพาะก่อนอายุ 50 ปี
-ออกกำลังกายเฉพาะหลังอายุ 50 ปี
-ออกกำลังกายสม่ำเสมอตลอดชีวิต
ผลลัพธ์ที่ค้นพบ
การออกกำลังกายก่อนอายุ 50 ปี หรือ ออกกำลังกายสม่ำเสมอตลอดชีวิต ส่งผลให้มี ขนาดฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ใหญ่กว่า เมื่ออายุ 70 ปี ซึ่งช่วยให้ความจำและการเรียนรู้ดีขึ้น
คือสมองส่วนนี้สำคัญมาก เพราะช่วยไม่ใช่เป็นอัลไซล์เมอร์ มันเก็บความจำระยะสั้นก่อนส่งต่อไปยังสมองส่วนต่าง ๆ ที่เก็บความจำระยะยาว
การออกกำลังกาย ช่วยลดผลกระทบด้านลบ จากสัญญาณเริ่มต้นของโรคอัลไซเมอร์ต่อสมองและความจำ ดังนั้น สิ่งที่จะเห็นได้เลยจากการออกกำลังสม่ำเสมอคือความจำจะดีขึ้น แต่ต้องออกเป็นประจำ เหมือนกิจวัตรนะ ออกแบบนาน ๆ ที ไม่ได้ประโยชน์อะไร
ผู้หญิงได้รับประโยชน์สูงสุด
ผู้หญิงที่ไม่ออกกำลังกายมีความเสี่ยงต่อการเสื่อมของสมองและความจำมากกว่า แต่ผู้หญิงที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอจะมีอัตราการเสื่อมช้ากว่า
สรุปสั้น ๆ
แม้เพียงการออกกำลังกายเบา ๆ เป็นประจำ (เช่น เดินเร็ว ทำสวน หรือเต้นรำ) ก็สามารถ ช่วยชะลอความเสื่อมของสมอง และ เสริมสร้างความจำให้คงอยู่ได้นานขึ้น ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไร การเริ่มต้นวันนี้ยังทัน!
อุตส่าห์จำมาทั้งชีวิต จะให้มาลืมเฉย ๆ ขณะเดินไปเดินมานี่ ไม่ไหวนะ”
พอรู้แบบนี้แล้วอย่าลืมออกกำลังกายกันด้วยนะคะ