เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” แห่งสหรัฐฯ ได้ลงนามในคำสั่งบริหารใหม่ที่ประกาศให้ประเทศยอมรับเพียงสองเพศเท่านั้นคือ “ชาย” และ “หญิง” โดยถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ คำสั่งนี้ยกเลิกนโยบายหลายฉบับที่เคยสนับสนุนความหลากหลายทางเพศและสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ ในยุคของอดีตประธานาธิบดี “โจ ไบเดน”
คำสั่งดังกล่าวยังระบุให้หน่วยงานรัฐทั้งหมดเปลี่ยนการใช้คำว่า “เพศสภาพ” เป็น “เพศ” แทน และกำหนดให้เอกสารทางราชการ เช่น หนังสือเดินทาง และบัตรประจำตัวประชาชน อ้างอิงกับเพศตามชีววิทยาของแต่ละบุคคลเท่านั้น
การดำเนินการครั้งนี้ถือเป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ที่มุ่งเน้นแนวคิดแบบอนุรักษนิยมสุดโต่ง ซึ่งทรัมป์เคยใช้เป็นแนวทางหลักในการหาเสียง โดยคำสั่งบริหารใหม่ยังยกเลิกนโยบายของไบเดนกว่า 78 ฉบับ ซึ่งครอบคลุมนโยบายส่งเสริมความหลากหลาย (Diversity) ความเท่าเทียม (Equality) และการหลอมรวม (Inclusion) หรือที่เรียกรวมว่า DEI
นโยบายที่ถูกยกเลิก ได้แก่ คำสั่งที่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของคนข้ามเพศ ต่อต้านการเลือกปฏิบัติตามเพศสภาพ และนโยบายช่วยเหลือชุมชนกลุ่มเปราะบาง เช่น ชุมชนคนผิวสี คนอเมริกันเชื้อสายเอเชีย และชนพื้นเมืองอเมริกัน
“ตั้งแต่วันนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ จะยอมรับเพียงสองเพศคือ ชายและหญิง เราจะหยุดใช้งบประมาณเพื่อสนับสนุนอุดมการณ์ทางเพศที่ไม่มีรากฐานทางชีววิทยา”
ทรัมป์ประกาศในสุนทรพจน์หลังพิธีสาบานตน
กระแสต่อต้านจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน
คำสั่งของทรัมป์ได้รับเสียงวิจารณ์อย่างรุนแรงจากนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน กลุ่มสนับสนุน LGBTQ+ และองค์กรระดับชาติหลายแห่ง เคลลี โรบินสัน ประธาน Human Rights Campaign (HRC) ชี้ว่า คำสั่งนี้เป็นการคุกคามสิทธิมนุษยชน และขัดขวางความก้าวหน้าของนโยบายที่เคยสร้างความเท่าเทียมในสังคม
“เราจะไม่ถอยหลังและยอมให้สิทธิที่ได้มาถูกทำลาย การต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนจะไม่หยุดลงที่นี่”
โรบินสันกล่าวในแถลงการณ์
อีกทั้งเรื่องนี้ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญบางคนเตือนว่า การยกเลิกนโยบาย DEI จะสร้างความเสียหายระยะยาวต่อความพยายามแก้ไขอคติทางสังคม และอาจส่งผลให้กลุ่มคนเปราะบางสูญเสียโอกาสและทรัพยากรที่สำคัญ
นโยบายใหม่ของทรัมป์ยังมีผลกระทบต่อแนวปฏิบัติของบริษัทต่างๆ ในสหรัฐฯ หลายองค์กรเริ่มลดความสำคัญของโครงการ DEI ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่ เช่น Costco และ Apple ยังคงแสดงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนความหลากหลายและการรวมตัวในองค์กร
ทั้งนี้ การกลับมาใช้นโยบายแบบอนุรักษนิยมของทรัมป์ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชน แต่ยังสร้างความแตกแยกในสังคมสหรัฐฯ ระหว่างผู้ที่สนับสนุนแนวคิดอนุรักษนิยมและผู้ที่เรียกร้องความเท่าเทียม ในขณะที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนให้คำมั่นว่าจะต่อสู้กับคำสั่งที่พวกเขามองว่า “เป็นอันตราย” ทรัมป์ยังคงเดินหน้าเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลให้ตอบสนองต่อฐานเสียงที่สนับสนุนเขาอย่างเคร่งครัด คำถามที่ตามมาคือ ความเท่าเทียมและสิทธิที่เคยเป็นรากฐานของสหรัฐฯ จะถูกหล่อหลอมใหม่อย่างไรภายใต้การนำของทรัมป์