ฮือฮา!  กรมศิลปากร สำรวจพบ “โครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง” อายุกว่า 29,000 ปี

การค้นพบครั้งสำคัญ! กรมศิลปากร สำรวจพบ “โครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง” อายุกว่า 29,000 ปี ตั้งชื่อ “น้องปังปอนด์” พร้อมภาพเขียนสีโบราณ ที่แหล่งโบราณคดีถ้ำดิน ในเทือกเขาสามร้อยยอด

การค้นพบครั้งสำคัญ  “โครงกระดูกเด็กยุคน้ำแข็ง” อายุราว 29,000 ปี และภาพเขียนสีโบราณ 

วันนี้ (24 ก.พ.68) นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร แถลงข่าวการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็งตอนปลาย (สมัยไพลสโตซีน) และภาพเขียนสีโบราณที่แหล่งโบราณคดีถ้ำดิน ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  

โดยการขุดค้นแหล่งโบราณคดีในครั้งนี้ ดำเนินการโดย นางสาวกรรณิการ์ เปรมใจ และทีมงานกองโบราณคดี ภายใต้ “โครงการขุดค้นศึกษาแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีที่ถ้ำดิน” อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด พบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยหินเก่าถึงสมัยหินกลาง โดยการกำหนดอายุด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ (AMS) ระบุช่วงเวลาประมาณ 29,000 – 10,000 ปีมาแล้ว การศึกษานี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างฐานข้อมูลทางวิชาการสำหรับวางแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงมรดกศิลปวัฒนธรรมในอนาคต 

ภายในถ้ำแบ่งออกเป็น 5 คูหา โบราณวัตถุที่พบจากการขุดค้นในปีงบประมาณ 2565 – 2566 ประกอบด้วย กระดูกสัตว์ เปลือกหอย เมล็ดพืช และเครื่องมือหิน โดยในปีงบประมาณ 2567 นี้ ได้พบหลักฐานสำคัญที่ระดับความลึก 190 – 195 เซนติเมตร จากระดับพื้นถ้ำปัจจุบัน ซึ่งเป็นโครงกระดูกมนุษย์จำนวน 1 โครง 

จากการวิเคราะห์เบื้องต้น พบว่าเป็นโครงกระดูกเด็ก อายุตอนเสียชีวิตประมาณ 6 – 7 ปี ทีมสำรวจจึงตั้งชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า “น้องปังปอนด์”  

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้จากการขุดค้นยังไม่พบหลักฐานที่ยืนยันความเกี่ยวโยงระหว่างกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในถ้ำดินเมื่อ 20,000 กว่าปีที่แล้ว กับเจ้าของภาพเขียนสีที่พบภายในถ้ำและเพิงผาในเทือกเขาสามร้อยยอด ซึ่งขณะนี้ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี กำลังศึกษาวิธีวิเคราะห์อายุของภาพเขียนสีโดยตรงต่อไป 

นายพนมบุตร กล่าวว่า โครงกระดูกที่ขุดพบนี้ถือเป็นโครงกระดูกที่มีอายุเก่าแก่มากที่สุดในประเทศไทย โดยมีอายุราว 29,000 ปี ร่วมสมัยกับยุคน้ำแข็งตอนปลาย (สมัยไพลสโตซีน) มีการพบก้อนหินวางทับและผงสีแดงโรยบนโครงกระดูก สันนิษฐานว่าอาจเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม โครงกระดูกมีความสมบูรณ์สูง ลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์ในยุคปัจจุบันและสามารถเดินตัวตรงได้แล้ว 

สำหรับแนวทางการเก็บรักษา ในอนาคตจะต้องพิจารณาอย่างละเอียดว่าควรเก็บรักษาโครงกระดูกไว้ในถ้ำหรือเคลื่อนย้ายไปเก็บรักษาในที่ปลอดภัย ซึ่งจำเป็นต้องทำงานร่วมกับกรมอุทยานฯ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาระบุว่าพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดมีความสำคัญทางโบราณคดีสูง และอาจมีการค้นพบหลักฐานใหม่ ๆ เช่น โครงกระดูกสัตว์ พันธุ์พืช และระบบนิเวศในอดีต ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยเติมเต็มองค์ความรู้เกี่ยวกับการอยู่อาศัยของมนุษย์ในพื้นที่นี้เมื่อกว่า 29,000 ปีที่แล้ว 

นายพนมบุตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การค้นพบครั้งนี้จะช่วยให้เข้าใจวิถีชีวิตของมนุษย์ในอดีต ซึ่งมีลักษณะเป็นสังคมเร่ร่อน ข้อมูลที่ได้จะกลายเป็นองค์ความรู้สำหรับคนรุ่นต่อไป โดยขณะนี้อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการศึกษา ก่อนเข้าสู่กระบวนการวิจัยเชิงลึกและการตีพิมพ์รายงานผลการศึกษา ความมุ่งหวังของกรมศิลปากรคือ การค้นพบนี้จะไม่เป็นเพียงจุดเดียว แต่จะนำไปสู่การสำรวจแหล่งโบราณคดีอื่น ๆ ที่มีศักยภาพทั่วประเทศ เช่น ถ้ำหมอเขียวในภาคใต้ และแหล่งโบราณคดีในแม่ฮ่องสอนทางภาคเหนือ 

ขณะที่ นายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีนโยบายพัฒนาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ให้เป็นพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยจังหวัดนี้มีอุทยานแห่งชาติหลายแห่งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (น้ำตกป่าละอู), กุยบุรี, หาดวนกร, น้ำตกห้วยยาง และอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด โดยเฉพาะถ้ำดินและแหล่งโบราณคดีที่เพิ่งค้นพบนี้ มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในอนาคต 

ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดได้จัดเจ้าหน้าที่ 2 ชุด เฝ้าเส้นทางขึ้นถ้ำดินตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมสั่งห้ามบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้าไปในพื้นที่ เนื่องจากยังมีเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรปฏิบัติหน้าที่ และชิ้นส่วนโครงกระดูกยังคงอยู่ภายในถ้ำ หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย 

การค้นพบครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าในอนาคต