จเรตำรวจ เผย กลุ่มข้ามแดนไปทำงาน มีเพียงแค่ 1% ที่ถูกหลอก นอกนั้นเต็มใจไปเอง

จเรตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงผลการส่งคืนกลุ่มผู้เสียหายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ “เป็นไปได้ด้วยดี” – เผยคนที่ถูกหลอกข้ามแดนไปทำงาน มีเพียง 1% เท่านั้น ส่วนที่เหลือเต็มใจไปเอง

วันนี้ (13 ก.พ.68) พล.ต.อ. ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ และผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (จตช./ผอ.ศตคม.ตร./ผอ.ศปอส.ตร.) กล่าวถึงผลจากมาตรการป้องกันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้เริ่มใช้จนกระทั่งเริ่มมีการส่งคืนกลุ่มผู้เสียหาย (เหยื่อ) จำนวนหลายร้อยคน ว่า “เป็นที่น่าพอใจ”

จากการรวบรวมข้อมูลที่ผ่านมาของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง พบว่ามีคนหลายชาติ ใช้เส้นทางอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ทั้งแบบถูกต้องและเส้นทางธรรมชาติในการข้ามพรมแดนมีกลุ่มคนที่ไม่มีแผนการท่องเที่ยวหรือ ที่พัก จำนวนมาก ซึ่งในส่วนนี้ตำรวจได้ทำการสืบค้นย้อนหลัง เพื่อตามหาว่ามีการข้ามไปและมีการกลับออกมาแล้วหรือไม่” 

ต้องยอมรับว่า 100 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เดินทางข้ามพรมแดน คือสมัครใจเดินทางไปเอง และยืนยันว่าไม่มีการถูกหลอกในประเทศไทย สำหรับผู้ที่ถูกหลอกไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์อาจเป็นการหลอกให้ไปทำงาน โดยแจ้งว่าเป็นงานอีกประเภท โดยผู้ที่ไปเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา นอกจากไปทำงานกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์แล้วยังไปทำงานอื่น ๆ อีก ทั้งเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ โรงแรม ร้านอาหาร และบ่อนพนันออนไลน์ 

“สำหรับคนที่ถูกหลอกข้ามประเทศไปจริงๆมีสัดส่วนที่น้อยมากเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ เช่นกรณีของดาราจีน นอกนั้นเป็นการเดินทางไปด้วยความเต็มใจ” พล.ต.อ. ธัชชัย กล่าว 

ช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้มีการจับกุมชาวญี่ปุ่น 4 ราย ที่แม้จะมีแผนท่องเที่ยวชัดเจนในประเทศไทย แต่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง เช่น ใช้ช่องทางธรรมชาติข้ามไปพรมแดนเพื่อนบ้านด้วยกระเป๋าหนึ่งใบ แบบไปกลับหลายครั้ง ต่อมาจากการสืบสวนกลุ่มดังกล่าวพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการค้ามนุษย์ 

พล.ต.อ.ธัชชัย กล่าวต่อว่า “การหลอกลวงให้ไปทำงานในฝั่งเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา พบว่ามีกลุ่มผู้เสียหายหลายเชื้อชาติทั่วโลก โดยเริ่มต้นจากคนจีนหลอกคนในชาตินั้น ๆ เพื่อไปกระทำการหลอกคนในชาติตัวเอง คนไทยจะเกี่ยวข้องในเรื่องของการรับจ้างเปิดบัญชีม้า แต่คนไทยที่จะถูกหลอกไปทำงานจริง ๆ ส่วนมาก จะถูกหลอกไปฝั่งประเทศกัมพูชา และลาว 

จากนี้ในการรับตัวเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์เข้ามาในประเทศไทย คาดว่าศูนย์สั่งการชายแดนมีการดูแลอย่างเต็มที่ ส่วนของตนเองจะเข้าไปเพิ่มเติมในส่วนของความเรียบร้อย และในวันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ จะมีการเชิญฑูตประเทศต่าง ๆ มาเตรียมความพร้อมในการรับประชากรชาติตัวเองกลับไป 

ส่วนการคัดกรองเหยื่อกับมิจฉาชีพปัจจุบัน ได้มีการใช้แบบสอบถามและขั้นตอนของกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism) หรือ NRM รวมทั้งใช้มาตรการสืบสวนสอบสวนเข้ามาร่วมด้วย โดยใช้ฐานข้อมูลจากระบบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ข้อมูลจากแต่ละสถานทูต มาเชื่อมโยงกันเพื่อคัดแยกกลุ่มบุคคลโดยล่าสุดในกลุ่ม 260 คน ที่ทางการไทยเพิ่งรับมาทางประเทศฟิลิปปินส์ได้ให้ข้อมูลมาว่ามีหนึ่งบุคคลเป็นผู้ต้องหาในกระบวนการค้ามนุษย์ แต่มาแอบอ้างว่าเป็นเหยื่อ 

“เชื่อว่าระบบระบบของประเทศไทยเป็นไปด้วยดีทำให้สามารถคัดแยกผู้เสียหายตัวจริงกับกลุ่มมิจฉาชีพที่มาแฝงตัวได้ เราไม่อยากเห็นคนที่ไปหลอกคนอื่นแล้วพอตอนกลับก็มาแสดงตัวเองเป็นเหยื่อมันเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม” พล.ต.อ. ธัชชัย กล่าว 

พล.ต.อ.ธัชชัย กล่าวยืนยันว่า ไม่ใช่ทุกรายที่กลับเข้ามาในประเทศไทยจะถูกบรรจุว่าเป็นเหยื่อ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะคัดกรองโดยละเอียด เพื่อไม่ให้มีการปะปนกัน และในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่ใช่เป็นการทำเฉพาะฝั่งเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา แต่จะปราบปรามฝั่งประเทศลาวและกัมพูชาด้วย