สสส. ชูโมเดล ชุมชนหัวชุกบัว นครปฐม แก้ปัญหา ยาเสพติด แอลกอฮอล์ อุบัติเหตุ ช่วยคนในชุมชนได้จริง

ผลักดัน ลุยสุดตัว ช่วยแก้ปัญหา! สสส. ชูโมเดล ชุมชนหัวชุกบัว นครปฐม แก้ปัญหา ยาเสพติด แอลกอฮอล์ อุบัติเหตุ ช่วยคนในชุมชน เจ็บปวด ทุกข์ทรมาน มีชีวิตใหม่อีกครั้ง

สสส. ชูโมเดล ชุมชนหัวชุกบัว อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ทำให้เห็นชัดๆ แก้ปัญหา ยาเสพติด แอลกอฮอล์ อุบัติเหตุ มีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่จริง ช่วยคนในชุมชน ที่หลงผิด กำลังเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน ให้พวกเขา ได้มีชีวิตใหม่อีกครั้ง

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2568 ที่อโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสระพัฒนา อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถอดบทเรียนความสำเร็จ การลด 3 ปัญา ปัจเสี่ยงต่อสุขภาพ ทั้งเรื่องยาเสพติด แฮลกอฮอล์ และ อุบัติเหตุ ในพื้นที่ ชุมชนหัวชุกบัว อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม

ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล ร่วมกับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสระพัฒนา , กระทรวงสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม , อำเภอกำแพงแสน และสมาคมเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ สาธารณสุขอำเภอกำแพงแสน และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ

โดย นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 2 และประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า สสส. สนับสนุนภาคีเครือข่าย ในการสร้างเสริมสุขภาพ จัดการปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ และภัยคุกคามสุขภาพ โดยเฉพาะยาเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอุบัติเหตุทางถนน โดยบูรณาการกับกลไกของระบบสุขภาพอำเภอ เกิดรูปธรรม และผลลัพธ์ที่ชัดเจนในพื้นที่ อ.กำแพงแสน มีกลไกการทำงานที่เข้มข้น

  1. ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหายาเสพติด สานพลังชุมชน คนหัวชุกบัว ล้อมรักษ์ให้ครอบครัวขจัดภัยยาเสพติด
  2. บูรณาการระบบบริการสุขภาพเพื่อการจัดการลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสร้างความรอบรู้ด้วยกลยุทธ์ พักตับ ยืดชีวิต โดยสร้างกลไกระบบส่งต่อในระบบบริการสุขภาพเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลด ละ เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมส่งต่อการรักษาผ่าน กลไก สามหมอ
  3. บูรณาการเครือข่ายหมออนามัย กับภาคส่วนอื่นๆ เพื่อขับเคลื่อนลดอุบัติเหตุในชุมชน พร้อมมาตรการ 5 ป. ประชาคม ประชาสัมพันธ์ ปลูกทัศนคติ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปรับปรุงสภาพแวดล้อม เพื่อแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุในชุมชนในพื้นที่อ.กำแพงแสน

การมีส่วนร่วมทั้งภาคีเครือข่ายและชุมชน ส่งผลให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ทั้งงบประมาณ ทรัพยากร และกำลังคน ดำเนินงานผ่านการสนับสนุนของ สสส. เครือข่ายหมออนามัยวิชาการ และกลไกพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) บนฐาน “พื้นที่เป็นฐาน ชุมชนเป็นศูนย์กลาง”

สสส.เชื่อว่า สังคมเรา ต้องขับเคลื่อนจากฐานราก รวมพลังกัน ถ้าฐานรากของชุมชนเข้มแข็ง ข้างบนลมแรงยังไง สังคมก็อยู่ได้ เพื่อคุณภาพชีวิตของชุมชนอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ในการจัดการและ สามารถลดปัญหาที่เกิดจากปัจจัยเสี่ยง

การถอดบทเรียนครั้งนี้ จากต้นแบบ ชุมชนหัวชุกบัว อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ก่อให้เกิดการเรียนรู้และนำไปสู่ ขยายผลเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นต่อไป

นายนรวีร์ ขันธหิรัญ นายอำเภอกำแพงแสน กล่าวว่า อ.กำแพงแสน ขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คนในพื้นที่ ผ่านกลไกพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) กำแพงแสน โดยมุ่งเน้นประเด็นปัญหาหลัก ยาเสพติด อุบัติเหตุทางถนน และโรคไม่ติดต่อ ซึ่งประเด็นปัญหาที่ท้าทาย

โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหายาเสพติด ต้องอาศัยการจัดการและการขับเคลื่อนของพื้นที่ อ.กำแพงแสน ขณะที่การจัดการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาเสพติด และการจัดการอุบัติเหตุทางถนน ระดมทีมภาคราชการ ภาคหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น สาธารณสุข ผู้นำชุมชน อสม. อปพร. และพลังของภาคีเครือข่ายระดับอำเภอ ร่วมกันออกแบบและพัฒนากลไกการทำงานที่ยั่งยืน รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน การใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ การพัฒนาศักยภาพของผู้นำชุมชน และการสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง

ส่วนหนึ่งของปัจจัยของความสำเร็จ ของการขับเคลื่อนงานของ กลไกพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) คือ เครือข่ายหมออนามัย ที่เป็นพลังหลักและเป็นผู้นำการเชื่อมประสาน และพัฒนากลไกชุมชน ส่งเสริมการจัดการตนเองของชุมชน ในการจัดการปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพการเสริมพลัง และสะท้อนเชิงพัฒนาจากทุกภาคส่วน เป็นโอกาสสำคัญต่อการยกระดับ และต่อยอดแนวคิดใหม่ๆ สู่การขับเคลื่อนงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชนในพื้นที่

นายธนาธิป บุญญาคม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสระพัฒนา กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดจากปัจจัยสุขภาพใน ต.สระพัฒนา ในปี 2567

  1. ยาเสพติด พบมีผู้เสพสมัครใจเข้ารับการบำบัด 23 คน พบอาการทางจิต 1 คน และเป็นกลุ่มสีแดง คือผู้ป่วยยาเสพติด ที่มีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย มีอาการอาละวาด คลุ้มคลั่ง เป็นอันตรายกับคนในชุมชน 2 คน ต้องส่งรักษาในโรงพยาบาล
  2. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบมีผู้ดื่มทั้งหมด 357 คน เป็นกลุ่มวัยทำงาน อายุ 35-59 ปี สูงถึง 62.5% ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มดื่มแบบเสี่ยง 183 คน ดื่มแบบมีความเสี่ยงสูง 69 คน โดยเชิญชวนกลุ่มดื่มแบบเสี่ยงทั้งหมดตรวจเลือดประเมินค่าเอนไซม์ตับ มีผู้สมัครใจเข้าร่วม 105 คน
  3. อุบัติเหตุทางถนน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์ พบมีผู้ประสบภัย 61 คน ผู้บาดเจ็บ 59 คน เสียชีวิต 2 คน

การทำงานในพื้นที่ ต.สระพัฒนา มีหมออนามัย ได้บูรณาการการจัดการปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ

  1. เชื่อมประสานทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมมากที่สุด
  2. ร่วมวางแผนในการดำเนินการ
  3. สำรวจพื้นที่ร่วมติดตามแก้ไข
  4. เป็นวิทยากรในการอบรมให้ความรู้ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในทุกมิติ เพื่อลดความเสี่ยง เพิ่มปัจจัยบวกด้านสุขภาพของคนในชุมชน และเป็นหน่วยงานที่สร้างแกนนำเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทุกด้านเช่น การอบรมให้ความรู้กับ อสม. ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีความรู้ ความเข้าใจ ตระหนักถึงปัญหาและร่วมกันดูแล แก้ไขปัญหาในพื้นที่

การันตีได้ว่า ชุมชนไม่ได้รับความเสียหาย มีแต่เราเข้ามาช่วยชุมชน เข้ามาช่วยครอบครัว ให้คุณค่าผู้ป่วย ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า และเห็นความสำคัญ ทุกคนในชุมชนไม่ได้รังเกียจเขา มีแต่อยากช่วยให้เขาได้หลุดพ้นจากปัญหา

นายสุวัจชัย เกียรติสกุลทอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระพัฒนา กล่าวว่า ปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นำไปสู่การใช้ยาเสพติดและอุบัติเหตุในทางหลักหรือทางรองของพื้นที่ ต.สระพัฒนา การจับมือกับหลายภาคส่วนระดมสมอง ทำให้ ต.สระพัฒนา สามารถจัดการปัญหาได้ค่อนข้างดี

ล่าสุดได้ใช้โมเดลชุมชนล้อมรักษ์ ช่วยบำบัดผู้ป่วยยาเสพติดได้รับการดูแล ได้รับโอกาสคืนกลับสู่สังคมและใช้ชีวิตอย่างปกติ 6 คน หยุดเสพ 3 คน ลดการใช้ยา 1 คน เกิดครอบครัวล้อมรักษ์และครัวเรือนสีขาว 246 ครัวเรือน เกิดการขยายผลการดำเนินงานสู่ชุมชนบ้านหนองหมู ต.สระพัฒนา อ.กำแพงแสนจ.นครปฐม

ขณะเดียวกันยังได้ผลักดันกิจกรรมส่งเสริมการเล่นกีฬาในชุมชน โดยจัดพื้นที่เล่นกีฬา ติดไฟให้สว่างเพื่อความปลอดภัย ลดการมั่วสุมยาเสพติด ทั้งหมดนี้ทำให้ชุมชนมีความตื่นตัวไปพร้อมกัน เพื่อให้ไม่ถูกเรียกว่าเป็นชุมชนพื้นที่สีแดงอีกต่อไป

อีจัน ยังได้พูดคุยกับ ลุงพิสิท อายุ 52 ปี ชาวบ้านในชุมชน ผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติด เล่าว่า เมื่อก่อนยาเสพติดระบาดในชุมชน หาซื้อได้ง่าย ผมเป็นทั้งคนเสพและคนขาย จนถูกจับเข้าไปอยู่ในคุก พรากชีวิตวัยรุ่นไป 15 ปี

จนกระทั่ง ผมตัดสินใจเลิกเสพยาเสพติด เพราะลูกสาวสอบติดพยาบาล ขอให้พ่อเลิกเสพยา อยากทำเพื่อลูก และอยากทำเมีย ในตอนที่ผมถูกจับเข้าคุก ภรรยาก็ไม่เคยทิ้งไปไหน

หลังผมตัดสินใจเลิกเสพยา ก็มีทีมเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เข้ามาให้คำปรึกษา และพาไปบำบัด ฟื้นฟูร่างกาย และจิตใจ ตอนผมเข้ารับการบำบัด มีเพื่อนๆ 15 คน ก็ผ่านการบำบัดทุกคน พอมีหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือ ก็ทำให้สังคมยอมรับ อยากให้มีโครงการนี้ไปอยู่กับหมู่บ้านอื่นด้วย

นายมณู สระทองเมา อายุ 51 ปี ชาวบ้านในชุมชน ผู้ได้รับการบำบัดเลิกเหล้า เล่าว่า เมื่อก่อนผมกินเหล้าทุกวัน จนกระทั่งไอเป็นเลือดออกมา และจุกท้อง เจ็บทรมาน ต้องไปนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล จึงตัดสินใจเลิกเหล้าเพื่อแม่ เพราะแม่ป่วยติดเตียง ผมอยากมีชีวิตเพื่อดูแลแม่

พอเจ้าหน้าที่ในชุมชนรู้ว่าผมอยากเลิกเหล้า ก็ลงพื้นที่ไปหาที่บ้าน ให้คำแนะนำ และจะพาไปตรวจค่าตับ แต่ในตอนนั้น ผมกำลังรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลแล้ว แต่ก็ได้เห็นความตั้งใจของเจ้าหน้าที่ ที่เขาเป็นห่วงผมด้วยใจจริงๆ อยากขอบคุณมากๆครับ

นายเอกภพ สระทองคำ อายุ 42 ปี ชาวบ้านในชุมชน ผู้ได้รับการบำบัดเลิกเหล้า เล่าว่า ผมก็ติดเหล้าหนักมาก ดื่มเหล้าทุกเย็น จนกระทั่งเกิดเหตุ จู่ๆผมก็สลบไปเลย หน้าไถลไปที่พื้น หลับไม่มีการตอบสนอง หายใจรวยริน ตอนนั้นใครก็คิดว่าผมตายแล้ว ผมนอนอยู่ห้องไอซียู 3 วัน 3 คืน จนตื่นขึ้นมา ถึงเห็นว่ามีสายเจาะเต็มตัว หลังจากเหตุการณ์นี้จึงตัดสินใจเลิกเหล้า อยากมีชีวิตอยู่กับครอบครัว

ต่อมา เจ้าหน้าที่ในชุมชน มาเยี่ยมที่บ้าน ให้คำแนะนำ ผมจึงตัดสินใจเข้ารับการบำบัด ผมรู้สึกว่าคนอื่นยังดูแลเอาใจใส่ผมเลย แล้วทำไมผมถึงไม่ดูแลเอาใจใส่ตัวเอง ตอนนี้เลิกดื่มเหล้าแล้ว รู้สึกว่าสุขภาพดีขึ้น

โมเดล ชุมชนหัวชุกบัว อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ที่ สสส. ช่วยผลักดันสุดกำลัง ทำให้เห็นชัดๆเลยค่ะว่า ถ้าฐานรากชุมชนเข้มแข็ง ก็ช่วยกันแก้ปัญหา ยาเสพติด แอลกอฮอล์ อุบัติเหตุ ได้จริงๆค่ะ