ถกกันสนั่น! เวทีดีเบต “วัคซีนคุมกำเนิดช้าง” มีทั้ง หนุน-ค้าน

ถกกันสนั่น! เวทีเปิดรับฟังความคิดเห็น “วัคซีนคุมกำเนิดช้าง” มีทั้งเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย เผย! ราคาวัคซีนเฉียดหมื่น! อธิบดีกรมอุทยานฯ ยัน! นี้ไม่ใช่การโหวตเป็นเพียงการแสดงความคิดเหตุอย่างมีเหตุผล

จากกระแสดราม่า! วัคซีนคุมกำเนิดช้างป่า สู่การนัดดีเบตระหว่างกลุ่มเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นทั้ง 2 ฝ่าย วันนี้

วันนี้ (17 ม.ค. 68) บรรยากาศเวทีการเปิดรับฟังความคิดเห็น “โครงการนำร่องการใช้วัคซีนคุมกำเนิดระยะยาวในช้างป่าเอเชีย” ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เชิญตัวแทนจากคณะกรรมธิการวิสามัญแก้ไขปัญหาช้างป่า สัตวแพทย์ทีมวิจัย “SpayVac®” นักวิชาการด้านสัตว์ป่า และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาช้างกว่า 300 คนร่วมรับฟัง หลังดราม่าขอให้ชะลอการทดลองฉีดวัคซีนในช้างป่าตะวันออก นำร่อง 20 ตัว

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า สำหรับการจัดประชุมครั้งนี้ต้องการให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องได้ระดมความเห็นร่วมกันอย่างมีเหตุผล แต่จะไม่ใช่การโหวต ซึ่งวัคซีนคุมกำเนิดช้างเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาช้างที่เป็นมติความเห็นของบอร์ดช้างแห่งชาติ โดยมีการทำงานร่วมกันมาแล้ว 1 ปี กับทีมสัตวแพทย์ มช.นำร่องช้างบ้าน 7 เชือกที่ได้ผลดี และเตรียมทดลองในช้างป่าตะวันออกในเดือน ม.ค.นี้ แต่มีทั้งเสียงที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงต้องหาทางออกจากเวทีนี้ ไปนำเสนอให้บอร์ดช้าง

ซึ่งการคุมกำเนิดช้างเพื่อลดจำนวนช้างออกนอกพื้นที่โดยการทดสอบในช้างป่า จะมีทีมสัตวแพทย์ของ มช. กรมอุทยานฯ และนักอนุรักษ์ ซึ่งยังไม่ได้กำหนดว่าจะเลือกช้างตัวเมียโขลงในป่า หรือช้างที่หากินนอกพื้นที่ แต่ยืนยันทำอย่างรอบคอบรัดกุมแน่นอน

ด้าน นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีต ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า ไม่ได้คัดค้านการใช้วัคซีนคุมกำเนิดช้าง และเข้าใจผลกระทบที่ชาวบ้านทุกพื้นที่ แต่มองว่าการนำเข้าวัคซีนซึ่งมีราคาแพงมาใช้อาจไม่คุ้มค่า รวมถึงขั้นตอนในป่าที่ต้องใช้ทีมสัตวแพทย์ในการเข้าถึงช้าง จึงค่อนข้างเสี่ยงทั้งคนและช้าง

อีกทั้งยังตั้งคำถามว่า ประชากรช้างป่าเพิ่มขึ้นจากปี 2520 จริงหรือไม่ ซึ่งถ้าเทียบตัวเลขอดีตจนถึงปี 2567 ที่กรมอุทยานฯ ระบุว่ามีช้างป่าเพิ่มจำนวน 4,422 ตัว

“ถ้าหากฉีดวัคซีนแล้ว ช้างไม่เข้าไปลุยสวนชาวบ้าน ผมเห็นด้วย แต่นี้คือการฉีดเพื่อคุมกำเนิด ผมถามว่ามันทำให้ช้างไม่เข้าไปในสวนชาวบ้านเหรอ?”

นายชัยวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า ในเมื่อที่ผ่านมาเราพยายามหาทางออกเรื่องนี้มาตลอดและใช้งบประมาณไปเป็นพันล้าน ส่วนตัวมองว่าถ้าจัดการด้วยการสร้างรั้วรอบพื้นที่ชุมชนไม่ให้ช้างเข้ามาจะดีกว่าไหม แทนที่จะไปลงทุนกับวัคซีน อีกอย่างการใช้วัคซีนก็จะต้องใช้คนเข้าไปยิง แล้วใครจะกล้า? เพราะการเข้าไปในป่าเพื่อยิงวัคซีนช้างมันก็อะไรกับการเข้าไปตาย!

ขณะที่ ศ.ปฏิบัติ ดร. น.สพ.ฉัตรโชติ ทิตาราม ผอ.ศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า วัคซีนผลิตจากโปรตีนของผิวของไข่ของสุกร ซึ่งมีการใช้กันอย่างกว้างขวางในสัตว์ป่าประกอบด้วย glycoprotein ตัวทำลาย

โดยการทดลองมีการเลือกใช้กับช้างตัวเมียภายในฝูง โตเต็มวัย มีลูกมาแล้ว 1-2 ตัว ภูมิคุ้มกันที่สร้างจะอยู่ในของเหลวภายในรังไข่ เพื่อป้องกันการปฏิสนธิของอสุจิและไข่ โดย pZP vaccine ชนิด spayvac มีการทดสอบการใช้ในช้างบ้านที่ปางช้างเชียงใหม่ตัวเมีย 7 เชือกแล้ว โดยการยิงยาระยะไกลให้เข้ากล้ามเนื้อมัดใหญ่ และให้ลึกพอจะดูดซึมยา

ซึ่งการทางทดลองไม่พบภาวะการแพ้วัคซีน หรือการอักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน ซึ่งมีประเมินผลจากการติดตั้งจีพีเอส รวมทั้งมีการฝังไมโครชิพ และยืนยันว่าไม่ใช่การทารุณกรรมช้างอย่างแน่นอน

สำหรับการนำเข้า SpayVac ไม่ต้องกระตุ้นวัคซีน และมีภูมิคุ้มกัน 7 ปี ราคานำเข้า 250 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 โดส หรือประมาณ 8,600 บาท

รศ.ดร.น.สพ.ฉัตรโชติ ยังกล่าวอีกว่า วัคซีนนี้ไม่ได้เป็นการแก้ปัญญาเรื่องช้างที่เข้าไปบุกรุกพื้นที่ชาวบ้าน แต่เป็นเพียงการคุมกำเนิดช้างเท่านั้น

ขณะที่ ดร.ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ ผอ.ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า ระบุว่า แต่ละปีมีชาวบ้านจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากช้างใน 71 พื้นที่ ตัวเลขปีล่าสุดเสียชีวิต 39 คน บาดเจ็บ 34 ความเสียหายต่อพืชผลเกษตร 1,638 คน

โดยยอมรับว่ายังเป็นตัวเลขขั้นต่ำ ซึ่งแนวทางการนำวัคซีนมาใช้เป็นหนึ่งในทางเลือกที่คณะกรรมการแก้ปัญหาช้างเห็นชอบไว้ และมีการทดสอบในช้างบ้านมาแล้ว 7 เชือก ซึ่งตามแผนจะทดลองในป่าตะวันออกที่มีประชากรช้างป่าเพิ่มราว 7% ต่อปี

ส่วนข้อเสนอที่ขอให้ชะลอการทดสอบในช้างป่า เพราะผลทดสอบวัคซีนช้าง 7 เชือกเพิ่งผ่านการทดลองเพียง 1 ปีนั้น นายศุภกิจ ยอมรับว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเข้าใจเป็นเรื่องใหม่ที่มีทั้งคนกังวลทางวิชาการ จึงต้องพูดคุยกับทุกภาคส่วน แต่ถ้าจะรอการทดสอบถึง 7 ปีอาจไม่ทันกับสถานการณ์ช้างที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่า จึงต้องหาข้อสรุปเพื่อให้ทดลองในช้างป่า

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยองพรรคประชาชน ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาติดตามผลการดำเนินงานและศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าอย่างยั่งยืน รวมทั้งมาตรการเยียวยาความเสียหายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า

หลังจากนี้จะเชิญตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาช้างป่า และกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้วัคซีนคุมกำเนิดช้างป่า รวมทั้ง น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา มาร่วมประชุมเพื่อเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหาช้างป่าต่อไป

อย่างไรก็ตามการใช้วัคซีนคุมกำเนิดช้างเป็นหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหาช้างป่าของ กมธ.ควบคู่กับการใช้มาตรการอื่น ๆ ร่วมด้วย