
วานนี้ (2 เม.ย. 68) กนกนุช กลิ่นสังข์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตดอนเมือง ได้ชี้แจงในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 ประจำปี 2568 ในประเด็นดราม่าบนโลกออนไลน์ ที่กรรมการวิสามัญงบประมาณกรุงเทพมหานคร ไม่อนุมัติงบประมาณจัดซื้อเครื่องวัดแรงสั่นสะเทือน กรณีเกิดแผ่นดินไหว มูลค่า 9 ล้านบาท

สก. กนกนุช กล่าวว่า ประเด็นในการพิจารณางบประมาณของกรุงเทพ เราพิจารณาเพื่อความปลอดภัย ความสะดวกสยบาย และเพื่อประโยชน์ของประชาชน ขอเรียนว่าเรา (ในที่ประชุมสภา) ให้ความสำคัญกับเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งพวกเราเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
หลายคนพูดถึงโครงการจ้างที่ปรึกษาประเมินำลัง ต้านทานแรงแผ่นดินไหวในอาคารสูง สังกัดกรุงเทพฯ ผ่านอนุกรรมการวิสามัญโยธาฯ และเมื่อคณะกรรมการพิจารณาแล้วเสร็จ จึงนำเรื่องรายงานสู่คณะกรรมการวิสามัญพิจารณางบประมาณ 2568 โดยประกอบด้วยสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จากหลายพรรคการเมือง รวมถึงผู้บริหารกรุงเทพมหานครด้วย
ในส่วนของเหตุผลที่คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาตัดงบประมาณดังกล่าว เนื่องจากเนื้อหาโครงการไม่ชัดเจน ไม่ครอบคลุม เนื้อหา TOR ยังขาดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน และไม่มีการอธิบายว่าจะนำผลประเมินมาใช้ในทางปฏิบัติในเชิงนโยบายและการทำงาน คณะกรรมการฯ จึงเกรงว่า จะไม่เกิดประโยชน์อะไร

โดยเนื้อหาเอกสารที่คณะกรรมการวิสามัญได้พิจารณา เป็นเอกสารโครงสร้าง ระบุอย่างเดียวคือการจ้างที่ปรึกษา เช่นเดียวกบลักษณะงาน ส่วนเรื่องประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับก็เป็นเพียงการรายงาน (ข้อมูล) ขณะเดียวกัน การขอใช้งบประมาณ 9 ล้านบาท เป็นเรื่องบุคลากรเกือบ 40% (ประมาณ 3.5 ล้านบาท) รวมถึงค่าใช้จ่ายการติดตั้งอุปกรณ์วัดการสั่นสะเทือน (ประมาณ 3 ล้านบาท) ค่าใช้จ่ายในการสำรวจและวิเคราะห์ผล (ประมาณ 2.4 ล้านบาท และค่าจัดทำรายงาน (ประมาณ 7.9 หมื่นบาท) รวมทั้งหมด 9 ล้านบาท
สก. กนกนุช กล่าวว่า หากโครงการนี้ มีการปรับปรุงรายละเอียดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน สมาชิกสภากรุงเทพมหานครก็พร้อมจะเห็นชอบโครงการดังกล่าว โดยสิ่งหนึ่งที่คณะกรรมการวิสามัญพบ คือตัวเครื่องที่ใช้ตรวจวัดไม่มีขาย ต้องใช้การประดิษฐ์ขึ้นมา และการติดตั้งเครื่องจะต้องติดตั้งในอาคารสูงของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเครื่องนี้ไม่ใช่การบอกว่าอีก 5 นาที แผ่นดินจะไหว เหลืออีก 3 นาทีแผ่นดินจะไหว แต่เป็นเครื่องที่วัดการสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว ซึ่งหากเกิดแผ่นดินไหว คงไม่มีใครที่จะวิ่งไปดูตัวเครื่องว่าจะถล่มหรือไม่ (แรงสั่นสะเทือน)
ฉะนั้น ต้องชี้แจงว่าการพิจารณางบประมาณนั้น ต้องพิจารณาตามเอกสาร และต้องผ่านความเห็นของประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายโยธา ดังนั้นขอชี้แจงว่าเครื่องดังกล่าวนั้น ไม่ใช่เครื่องแจ้งเตือนเหตุแผ่นดินไหว แต่เป็นเครื่องที่ใช้วัดการสั่นสะเทือน

ทั้งนี้ สก. กนกนุช กล่าวทิ้งท้ายว่า ส่วนตัวเชื่อว่าหากมีการพิจารณาเสนอใช้งบประมาณการป้องกันภัยแผ่นดินไหว สมาชิกสภากรุงเทพมหานครทุกคน จะให้ผ่านในเรื่องนี้อย่างแน่นอน ดังนั้นโครงการที่จะของบประมาณ ควรเป็นโครงการที่ครอบคลุมหลายมิติ ทั้งการบรรเทาและป้องกันภัย และควรถูกบังคับใช้ในวงกว้าง และเชื่อว่าการพิจารณางบประมาณดังกล่าว นึกถึงความสำคัญกับประชาชน ความปลอดภัย ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน การรักษาพยาบาล และหากโครงการใด ๆ ที่มีความชัดเจน กรรมการวิสามัญงบประมาณก็พร้อมอนุมัติงบประมาณให้
สามารถรับฟังได้ตั้งแต่ 3:31:25 เป็นต้นไป