![](https://files.ejan.co/wp-content/uploads/2023/11/450284-4d87o8h4k25w-768x402.jpg)
ใกล้ฤดูหนาวความเป็นห่วงเรื่องโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โควิด 19 ก็จะวนกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทย
วันนี้ (3 พ.ย.66) ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics เกี่ยวกับกลุ่มโอมิครอนกลายพันธุ์คู่-พลิกขั้ว “L455F + F456L” ที่มีการกลายพันธุ์บริเวณส่วนหนามเพิ่มอีกหนึ่งตำแหน่งที่ “A475V” ซึ่งพบว่า หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและเข้าติดเชื้อในเซลล์ได้ดีที่สุดในปัจจุบัน
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ระบุว่า วิธีล่าสุดของโควิด 19 เพื่อความอยู่รอดคือการ“กลายพันธุ์คู่-พลิกขั้ว (L455F + F456L)” หรือ Flip mutation โดยพบโอมิครอนกลายพันธุ์ลักษณะนี้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปลายปี 2566 และคาดว่าจะเป็นกลุ่มสายพันธุ์หลักที่ระบาดในปีหน้า 2567
ทั้งนี้ แรงกดดันจากภูมิคุ้มกันที่มนุษย์ได้รับจากการฉีดวัคซีน การใช้แอนติบอดีสำเร็จรูป และการติดเชื้อโควิด-19 ตามธรรมชาติ ส่งผลให้กลุ่มโอมิครอนเดิมมีการกลายพันธุ์แบบคู่และพลิกขั้ว(L455F/ L455S + F456L) หรือ Flip mutation เพื่อช่วยให้สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้นพร้อมไปกับเพิ่มความสามารถในการยึดเกาะกับผิวเซลล์มนุษย์ ทำให้ไวรัสแทรกเข้าไปติดเชื้อในเซลล์ได้ดีกว่าโอมิครอนทุกสายพันธุ์ที่ระบาดมาก่อนหน้า
![](https://files.ejan.co/wp-content/uploads/2023/12/398742062_1060838905255355_1051214154083547405_n.jpg)
กลุ่มโอมิครอนกลายพันธุ์คู่-พลิกขั้ว “L455F + F456L” เช่น โอมิครอน HK.3.1, JD.1.1 ฯลฯ โดยสามารถจับกับผิวเซลล์ได้ดีขึ้นและหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีนรุ่นใหม่ที่อาศัยเชื้อโอมิครอน XBB.1.5 เป็นต้นแบบในการผลิต (new monovalent SARS-CoV-2 variant vaccine)
ล่าสุดในกลุ่มของโอมิครอนที่ กลายพันธุ์คู่-พลิกขั้ว(L455F + F456L) พบการกลายพันธุ์เพิ่มอีกหนึ่งตำแหน่งคือ “A475V” ที่พบในโอมิครอน BA.5 ที่สูญพันธุ์ไปแล้วร่วมด้วย เพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน เช่น โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย
• FL.15.1.1 (XBB.1.9.1.15.1.1)
• JD.1.1 (XBB.1.5.102.1.1)
• GW.5.1.1 (XBB.1.5.102.1.1)
โควิด 19 มีวิวัฒนาการในการกลายพันธุ์เพื่อยังคงแพร่ระบาดได้ ดังนั้นการรู้เท่าทันและป้องกันตัวเองจึงยังเป็นเรื่องจำเป็นนะคะ