ไขข้อสงสัย! หมอสมอง ตอบชัด “โรคซึมเศร้า” รักษาให้หายขาดได้หรือไม่? 

หมอสมอง ตอบชัด! “โรคซึมเศร้า” รักษาให้หายขาดได้หรือไม่? พร้อมเผยความแตกต่างระหว่าง โรคจิต และ โรคซึมเศร้า ที่มีความต่างในด้านพฤติกรรมและอารมณ์

แพทย์ตอบชัด! โรคซึมเศร้า มีโอกาสหายขาดมั้ย วันนี้มีคำตอบ  

วันนี้ (26 มี.ค.68) ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท โพสต์ให้ความรู้ พร้อมตอบคำถาม เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าผ่าน “สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์” ระบุว่า… 

“โรคซึมเศร้ารักษาหายไหม?   

คำถามแบบนี้ อจ. ได้ยินบ่อยมาก พอบอกไม่หาย อาการคนไข้ก็จะซึมเศร้ายิ่งขึ้นไปอีก บอกรักษาหายก็ไม่ได้ เพราะมันอาจกลับมาได้อีก แม้อาการจะหายไปนาน หรือ บางคน ไม่กลับมาเป็นอีกเลย มันเหมือนโรคไมเกรน โรคพังผืดกล้ามเนื้ออักเสบ หรือแม้กระทั่งเบาหวานที่คุมน้ำตาลได้ดี แล้วน้ำตาลไม่ขึ้นอีกเลยในชีวิต  

หากจะบอกว่า การหาย แปลว่า โรคไม่กลับมาอีก โรคซึมเศร้าแบบรุนแรง (Major Depressive Disorder – MDD) ก็เหมือนจะหายได้ในหลายกรณี แม้ว่าคำว่า “หายขาด” อาจซับซ้อนเนื่องจากมีโอกาสที่โรคจะกลับมาอีก ดังนั้น คำว่า “หาย” กับ “หายขาด” เป็นคำที่แพทย์ อาจต้องใช้ หาย คืออาการหาย หายขาดคือยังไงก็ไม่มาเป็นอีกไม่ว่าอย่างไรก็ตาม   

บางทีเราก็ต้องอ้างอิงหลักฐานจากงานวิจัย  

อัตราการหายจากโรค: การศึกษาแสดงว่า 80% ของผู้ที่มีอาการซึมเศร้าครั้งแรกจะมีอาการซ้ำอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต โดยเฉลี่ยสี่ครั้งตลอดชีวิต  

อัตราการกลับมาเป็นซ้ำ: แม้จะรักษาได้ผลดี แต่มีรายงานว่า 50% ถึง 85% ของผู้ป่วยอาจมีอาการซึมเศร้ากลับมาอีกอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต แต่ก็อาจบอกได้เป็นอีกนัยว่า 15-50% ของคนไข้ ไม่กลับมาเป็นก็ได้  

ดังนั้น ปัจจัยที่มีผลต่อการหายและการกลับมาเป็นซ้ำจึงสำคัญ  

การรักษาที่รวดเร็วและเหมาะสม: การรักษาที่ทันท่วงทีและเหมาะสมเพิ่มโอกาสในอาการหายจากโรค  

การรักษาต่อเนื่อง: การรักษาต่อเนื่องหลังจากหายจากโรคลดความเสี่ยงของการกลับมาเป็นซ้ำ  

ความแตกต่างระหว่างบุคคล: เช่น ความรุนแรงของอาการครั้งแรก การมีโรคร่วม และประวัติส่วนบุคคลสามารถส่งผลต่อผลลัพธ์ของการรักษา  

การรักษาในปัจจุบันมีหลายวิธี ยาใหม่ ๆ ผลข้างเคียงต่ำมาก เช่น การรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้า ก็มีการแพร่หลายและได้ผลต่อคนไข้ที่ดื้อยา หรือแม้แต่ใช้ในครั้งแรก ๆ หรือ ร่วมกับยาก็ตาม และ ยังใช้กระตุ้น เมื่อการดีเพื่อไม่ให้มาเป็นซ้ำได้  

“โรคซึมเศร้า” เป็น โรคทางจิตเวช (psychiatric disorder) แต่ไม่ใช่โรคจิต (psychosis)” 

โรคซึมเศร้า (Depression) เป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่ม “ความผิดปกติทางอารมณ์” (Mood Disorders) ซึ่งส่งผลกระทบต่ออารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรมของผู้ป่วย โดยทั่วไปผู้ป่วยจะรู้สึกเศร้า หดหู่ สิ้นหวัง หรือสูญเสียความสนใจในสิ่งที่เคยชอบอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย หรือมีความคิดทำร้ายตัวเอง อย่างไรก็ตาม โรคซึมเศร้า ไม่ใช่ “โรคจิต” (Psychosis) เพราะผู้ป่วยยังคงรับรู้ความเป็นจริง (Reality) ได้ดี ไม่สูญเสียการติดต่อกับโลกภายนอก และไม่มีอาการหลงผิด (Delusions) หรือประสาทหลอน (Hallucinations) ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของโรคจิต 

โรคจิต เช่น โรคจิตเภท (Schizophrenia) หรืออาการทางจิตบางประเภท จะมีความแตกต่างสำคัญคือ ผู้ป่วยอาจสูญเสียความสามารถในการแยกแยะระหว่างสิ่งที่เป็นจริงและไม่จริง เช่น ได้ยินเสียงที่ไม่มีอยู่จริง (Auditory Hallucinations) หรือเชื่อในสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล (เช่น ถูกตามล่าโดยไม่มีหลักฐาน) ซึ่งในโรคซึมเศร้า อาการเหล่านี้จะไม่ปรากฏ เว้นแต่จะเป็นกรณีพิเศษที่เรียกว่า “โรคซึมเศร้าพร้อมอาการโรคจิต” (Psychotic Depression) ซึ่งพบได้น้อยและเป็นข้อยกเว้น   

เอาใจช่วยในการอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงอันโหดร้าย แต่เราก็ต้องรับให้ได้และแข็งแกร่งไปกับมัน  – อจ สุรัตน์  กล่าว 

หากใครที่เป็นอยู่ ก็ไม่ต้องกังวลไปนะคะ ทุกอย่างแก้ไขได้ ขอแค่สุขภาพจิตเราดี ใช้ชีวิตให้มีความสุขก็พอแล้วค่ะ  สู้ๆ!!! 

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก  สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์   https://www.facebook.com/share/p/15wFk53rx9/