หมอสุรัตน์ เตือน ผู้หญิงกินยาคุม เสี่ยงอัมพาต

หมอสุรัตน์ เตือน ผู้หญิงกินยาคุม เสี่ยงอัมพาต ชี้ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในไซนัสหลอดเลือดดำสมอง เป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อยแต่รุนแรง

เรื่องนี้ผู้หญิงต้องรู้!!!

ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ นะ สำหรับผู้หญิงวัยรุ่น วัยเจริญพันธุ์

วันที่ 21 ก.พ.68 ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท เปิดเผยผ่านเพจเฟซบุ๊ก “สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์” โพสต์ข้อความให้ความรู้ผู้หญิงที่กินยาคุม กับ ความเสี่ยง! ว่า…

คือ เกิดเป็นหญิงมีแต่ความเสี่ยงหนะ กินยาคุม ยังเป็นอัมพาตเลย จะให้สามีคุม ดันบอกไม่ ok

หญิง 35 ปี ปวดหัว รุนแรง ชักมา x ray มีก้อนเลือดอุดตันเส้นเลือดดำ สมองระบายน้ำออกไม่ได้ สมองบวม เซลล์ตาย มีคลื่นชักออกมา อาการแย่ ดีนะ ให้ยาละลายลิ่มทัน

คือ ซักไป ทานยาคุม ชนิดผสม combine pill อันนี้แหละเหตุ พบบ่อยในหญิงกินยาคุม โอโห แค่ คุมกำเนิดก็ เสี่ยงอัมพาต แจงเหตุ สามี ไม่ยอมคุมเอง

วันนี้เลยเล่าภัย และ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ จากยาคุม หมอรู้ เภสัชรู้ คนกินก็ควรรู้

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในไซนัสหลอดเลือดดำสมอง (Cerebral venous sinus thrombosis: CVST) เป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อยแต่รุนแรง ซึ่งเกิดจากการก่อตัวของลิ่มเลือดในไซนัสหลอดเลือดดำของเยื่อหุ้มสมองหรือหลอดเลือดดำในสมอง โดยภาวะนี้มักเกิดในคนวัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ และมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ เช่น การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน (Oral Contraceptives: OC) และการตั้งครรภ์

ปัจจัยเสี่ยง

การใช้ยาคุมกำเนิด: การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดภาวะ CVST โดยเฉพาะในผู้หญิง งานวิจัยบางฉบับระบุว่าผู้หญิงที่เป็นโรคนี้มีการใช้ยาคุมกำเนิดถึง 33%  หรือ อีกรายงาน  เสี่ยงกว่าคนทั่วไป 7 เท่าเลย

อาการที่ มา และ สงสัย

ปวดหัว ชัก ซึม หมดสติ อ่อนแรงอัมพาต

x ray เจอ ก้อนๆ อุด ตรงเส้นเลือดดำ เหมือนรูปที่วงไว้ กลางหัวเลย สมองบวม

เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบากเหมือน โบราณว่าไว้ สามี ก็อย่าเห็นแก่ตัว เค้าเสี่ยงไปเสียทุกอย่าง

สำหรับงานวิจัย

การวินิจฉัยภาวะลิ่มเลือดอุดตันในไซนัสหลอดเลือดดำสมอง (CVST) ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพการเจริญพันธุ์ (Reproductive Health-Related Risk Factors: RHRF) เช่น การตั้งครรภ์ ระยะหลังคลอดบุตร (puerperium) และการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน (OC) สามารถช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทที่รุนแรงได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการบันทึกอาการของแต่ละกลุ่มอย่างละเอียด

วิธีการศึกษา

จากผู้ป่วย CVST จำนวน 1,144 ราย มีผู้หญิงเข้าร่วมการศึกษา VENOST รวม 777 ราย โดยเปรียบเทียบข้อมูลด้านประชากรศาสตร์ ผลตรวจทางชีวเคมี อาการทางคลินิก และผลการตรวจทางรังสีระหว่างกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงจากสุขภาพการเจริญพันธุ์ (RHRF+) จำนวน 324 ราย กับกลุ่มที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว (RHRF-) จำนวน 453 ราย

ผลการศึกษา

• กลุ่ม RHRF- มีอายุเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่ม RHRF+ อย่างมีนัยสำคัญ (43.2 ± 13 ปี เทียบกับ 34 ± 9 ปี)

• กลุ่ม RHRF- มีประวัติลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำลึก (3%) การอุดตันในไซนัสคาเวอนัส (1%) ภาวะเส้นประสาทสมองผิดปกติ (13%) โรคร่วมกับมะเร็ง (7%) และคะแนนความพิการหลัง 12 เดือน (9%) สูงกว่ากลุ่ม RHRF+ อย่างมีนัยสำคัญ

• ในกลุ่ม RHRF+:

• 44% อยู่ในระยะหลังคลอด

• 33% ใช้ยาคุมกำเนิด

• 23% ตั้งครรภ์

• ผู้ใช้ยาคุมกำเนิดมีอายุเฉลี่ยสูงที่สุดในกลุ่ม RHRF+ (38 ± 9 ปี)

• กลุ่มตั้งครรภ์มีประวัติลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำลึกเพียงเล็กน้อย (4%)

• อาการชัก พบได้บ่อยที่สุดในกลุ่มหลังคลอด (44%)

ข้อสรุป

การศึกษาแสดงให้เห็นว่า ความเสี่ยงต่อการเกิด CVST เพิ่มขึ้นตามอายุ การใช้ยาคุมกำเนิด และช่วงหลังคลอด โดยอาการชัก มักพบร่วมกับ CVST ในกลุ่มหลังคลอด ขณะที่ มะเร็ง เป็นภาวะร่วมที่พบบ่อยในกลุ่มไม่มีปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพการเจริญพันธุ์ การประเมินความเสี่ยงเหล่านี้และการวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์จากการรักษาที่รวดเร็วและเหมาะสม