ใครยังเวียนหัวอยู่ เช็กเลย! หมอสุรัตน์ แชร์ทริกแก้ “โรคสมองเมาแผ่นดินไหว” 

หายเวียนหัวกันหรือยัง? 

หลังจากช่วงบ่ายวันนี้ (28 มี.ค.68) เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ขนาด 7.4 ลึก 10 กม. ที่ประเทศเมียนมา สะเทือนถึงไทย รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี จนตึกถล่ม สร้างความสูญเสีย และเสียหายเป็นวงกว้าง  



ล่าสุด ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท ได้ออกมาโพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับ โรคสมองเมาแผ่นดินไหว ผ่านเฟซบุ๊ก “สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์” ระบุว่า… 

“มารู้จัก โรคสมองเมาแผ่นดินไหว (Earthquake Drunk)  หรือ  โรคสมองหลอนแผ่นดินไหว (Earth quake illusion) 

วันนี้ นั่งดีๆ ตัวโยก คิดว่าเป็นอัมพาตซะแล้ว มองไป เพื่อนๆ พากัน ตั้งสติ เฮ้ยใจสั่นเวียนหัว วิ่งหลบ  

แผ่นดินไหวจบ นอกจาก สิ่งก่อสร้างเสียหาย แต่ยังมีอาการตอบสนองต่อร่างกายยังไม่จบเป็นอาการต่อเนื่องด้วย  เอา จริงๆ  อาจารย์ยังรู้สึก หวั่นๆ โยกๆ อยู่นิดนึง กลุ่ม อาการเหล่านี้ ที่ญี่ปุ่นรู้ดีเพราะแผ่นดินไหวบ่อย ไทยเรา รู้ไว้ด้วยจะได้ สังเกตตัวเอง  

อาการอะไรบ้าง เกิดต่อร่างกาย จิตใจหลัง แผ่นดินไหว  

1. สมองเมาแผ่นดินไหว (Earthquake Drunk) กลุ่มอาการวิงเวียนหลังแผ่นดินไหว หรือ Post-Earthquake Dizziness Syndrome หรือ PEDS)  

ผู้คนมักอธิบายว่ารู้สึกเหมือนยังคงเคลื่อนไหวอยู่ คล้ายกับความโคลงเคลงที่รู้สึกหลังจากลงจากเรือ ซึ่งบางครั้งเรียกว่า “อาการป่วยจากแผ่นดินไหว” หรือ “จิชิน-โยอิ” (แปลตรงตัวว่า “เมาแผ่นดินไหว” ในภาษาญี่ปุ่น) การศึกษาชี้ว่าอาการนี้อาจเกิดจากการรบกวนในระบบการทรงตัว (vestibular system) ซึ่งเป็นส่วนของหูชั้นในที่ควบคุมความสมดุล การเคลื่อนไหวที่ไม่คาดคิดจากแผ่นดินไหวสามารถทำให้ระบบนี้เสียสมดุล ส่งผลให้สมองพยายามปรับความรู้สึกให้กลับมาปกติอย่างยากลำบาก บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ หรือรู้สึกไม่สบายตัวร่วมด้วย และอาการนี้อาจรุนแรงขึ้นในคนที่ไวต่อการเมารถอยู่แล้ว หรือในคนที่อยู่ในอาคารสูงระหว่างเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งการสั่นไหวจะรู้สึกชัดเจนกว่า 

ระยะเวลาของอาการทางร่างกายเหล่านี้แตกต่างกันไป ในหลายคน อาการวิงเวียนจะค่อย ๆ หายไปภายในไม่กี่นาทีหรือชั่วโมงเมื่อร่างกายปรับตัวได้ อย่างไรก็ตาม การวิจัยหลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เช่น แผ่นดินไหวโทโฮกุในญี่ปุ่นปี 2011 (ขนาด 9.0) หรือแผ่นดินไหวคุมาโมโตะในปี 2016 พบว่าบางคนมีปัญหาการทรงตัวนานถึงหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน การศึกษาหนึ่งพบว่า มากกว่า 42% ของผู้ที่ถูกสำรวจรายงานถึง “ความรู้สึกโคลงเคลงที่เหมือนภาพลวงตา” ในช่วงหลายสัปดาห์หลังแผ่นดินไหวคุมาโมโตะ  

2. อาการ “สมองหลอนแผ่นดินไหว“ หรือ “แผ่นดินไหวทิพย์” “earthquake illusion” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางจิตใจที่รู้สึกเหมือนมีแรงสั่นสะเทือนทั้งที่มันไม่ได้เกิดขึ้นจริง อาจเป็นเพราะความตื่นตัวที่สูงขึ้นหรือความทรงจำจากเหตุการณ์อาการทางจิตสั่นไหว แผ่นดินไหวสามารถกระตุ้นการตอบสนองต่อความเครียดเฉียบพลัน เช่น ความวิตกกังวล ความกลัว แพนิก  บางคนนำไปสู่โรคเครียดหลังเหตุสะเทือนใจ (PTSD) ซึ่งมีอาการเช่น การย้อนนึกถึงเหตุการณ์ ความตื่นตัวเกินเหตุ หรือการนอนหลับยาก กลัวการอยู่ในตึก หรือ ขึ้นรถไฟฟ้าไปเลย  

สาเหตุของอาการเหล่านี้ซับซ้อน น่าจะเป็น สมองพยายามประมวลผลข้อมูลทางประสาทสัมผัสที่ขัดแย้งกัน-ตาบอกว่าพื้นดินนิ่ง แต่ระบบการทรงตัวบอกว่าเคลื่อนไหว จนเกิดการพุ่งขึ้นของคอร์ติซอลและอะดรีนาลีนระหว่างและหลังเหตุการณ์สามารถเพิ่มความไวต่อความรู้สึกในร่างกาย ทำให้อาการวิงเวียนหรือคลื่นไส้รู้สึกหนักขึ้น คนที่เป็นภาวะนี้มากได้แก่ คนมีโรควิตกกังวลหรือประวัติปวดไมเกรน  

ยังไม่มีวิธีรักษาเฉพาะสำหรับอาการหลังแผ่นดินไหว แต่สามารถใช้วิธีจากอาการเมารถและการจัดการความเครียดได้ การมองไปที่จุดไกล ๆ (เช่น เส้นขอบฟ้า) การนอนลง หรือการจิบน้ำอาจช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนในระยะสั้นได้

 

สำหรับผลกระทบทางจิตใจ การพูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์กับผู้อื่น จะช่วยระบาย หรือหลีกเลี่ยงการดูสื่อเกี่ยวกับเหตุการณ์มากเกินไป” 

ใครเวียนหัวยังไม่หายลองทำดูนะคะ