
สงกรานต์นี้ เที่ยวไหนกันบ้าง?
ดูแลสุขภาพกันด้วยนะ โดยเฉพาะคนที่ชอบ “เล่นน้ำตากแดด” อย่าคิดว่าเรื่องแค่นี้ ไม่เป็นอะไร เพราะมันอันตรายเทียบเท่าคนสูบบุหรี่เลย
วันนี้ (12 เม.ย.68) รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอหมู วีระศักดิ์ ระบุว่า…
ผลกระทบจากการตากแดดนานๆ มีความคล้ายคลึงกับการสูบบุหรี่
แสงแดดและความร้อนมีความเสี่ยงในระยะยาว และการวิจัยใหม่แสดงให้เห็นว่าความเสี่ยงดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับความเสี่ยงจากการสูบบุหรี่
การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร *Science Advances เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2025 ได้ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิภายนอกที่สูงกับการเร่งอายุทางเอพิเจเนติกส์ (อายุทางเอพิเจเนติกส์ (Epigenetic Age) คือ อายุชีวภาพของร่างกายที่คำนวณจากรูปแบบการทำงานของยีน) ในผู้สูงอายุในสหรัฐอเมริกา โดยใช้ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่ที่มีอายุ 56 ปีขึ้นไป จำนวน 3,686 คนทั่วประเทศ
ผลการศึกษา
1. การสัมผัสกับอุณหภูมิสูงในระยะสั้น (เช่น ในวันที่เก็บตัวอย่างเลือดหรือสัปดาห์ก่อนหน้า) มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของอายุชีวภาพถึง 1.07 ปี
2. การสัมผัสกับอุณหภูมิสูงในระยะยาว (เช่น ตลอด 1 ปีหรือ 6 ปีก่อนหน้า) มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของอายุชีวภาพถึง 2.48 ปี
3. ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีวันที่มีอุณหภูมิสูงเกิน 32°C มากกว่า 140 วันต่อปี มีอายุชีวภาพสูงกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีวันที่ร้อนน้อยกว่า 10 วันต่อปี ถึง 14 เดือน
การสัมผัสกับอุณหภูมิสูงอาจเร่งกระบวนการชราภาพทางชีวภาพผ่านการเปลี่ยนแปลงของ DNA methylation ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเคมีที่มีผลต่อการแสดงออกของยีน โดยไม่เปลี่ยนแปลงลำดับของ DNA เอง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สามารถนำไปสู่ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคเรื้อรังและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

อธิบายง่ายๆ
อายุจริง = อายุที่นับตามวันเกิด
อายุเอพิเจเนติกส์ = อายุที่ร่างกาย “รู้สึก” หรือ “เสื่อม” ไปถึงระดับไหนแล้ว
ยกตัวอย่างเช่น คนอายุ 50 ปี แต่ถ้าอายุทางเอพิเจเนติกส์แค่ 40 ปี หมายถึง ร่างกายยังเสื่อมช้ากว่าปกติ (อ่อนเยาว์กว่าวัยจริง)
ตรงกันข้าม ถ้าอายุเอพิเจเนติกส์สูงกว่าวัยจริง ก็อาจแปลว่าเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง หรือการเสื่อมถอยของสุขภาพเร็วขึ้น
ข้อเสนอแนะ
ผลการศึกษานี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการพัฒนายุทธศาสตร์เพื่อลดผลกระทบของอุณหภูมิสูงต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง การออกแบบโครงสร้างพื้นฐานที่ให้ร่มเงา และการเข้าถึงเครื่องปรับอากาศ
อ้างอิงข้อมูลจาก: Eun Young Choi, Jennifer A. Ailshire ,Ambient outdoor heat and accelerated epigenetic aging among older adults in the US.Sci. Adv.11,eadr0616(2025).DOI:10.1126/sciadv.adr0616
เรียบเรียงโดย: รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี #หมอหมูวีระศักดิ์ #ตีแผ่ทุกความจริงด้วยวิทยาศาสตร์
ปล. ข้อมูลทั้งหมดที่ผมนำเสนอมีการอ้างอิงแหล่งที่มาชัดเจน และผมได้พยายามอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ แต่บางครั้งอาจมีการโต้แย้งในข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องปกติในแวดวงวิชาการ ดังนั้นจึงขอเรียนทุกท่านว่า โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านบทความของผม และควรหาข้อมูลเพื่มเติมเพื่อความถูกต้องอีกครั้ง ด้วยนะครับ”