เช็กกันด้วย! หมอหมู เตือน “ง่วงนอนตอนกลางวันมากผิดปกติ” เสี่ยงภาวะสมองเสื่อม

หมอหมู วีระศักดิ์ เผยผลการวิจัยจากต่างประเทศ พบว่า ผู้ที่มีภาวะง่วงนอนตอนกลางวันมากผิดปกติ มีความเสี่ยงเกิดภาวะสมองเสื่อม – แนะพักผ่อนให้เพียงพอ-เป็นเวลา

โดยปกติทั่วไป คนเราอาจมีอาการอ่อนเพลีย หรือง่วงนอนในเวลากลางวัน ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น นอนไม่เป็นเวลา , พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือแม้แต่บรรยากาศในช่วงเวลานั้น ๆ โดยล่าสุดมีผลการวิจัยจากต่างประเทศ เผยว่าหากมีอาการง่วงนอนช่วงเวลากลางวันมากผิดปกติ อาจเสี่ยงที่จะเกิดโรคร้ายได้

(3 ก.พ.68) รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ได้ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “หมอหมู วีระศักดิ์” แนะให้ทุกคนสังเกตอาการตัวเองสม่ำเสมอ หากมีภาวะง่วงนอนเวลากลางวันมากผิดปกติ อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคสมองเสื่อม หลังจากวารสาร Neurology ได้ทำการวิจัยผู้สูงอายุกว่า 445 คน พบว่า 35% จากผู้ที่มีอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน พัฒนาเป็น MCR หรือภาวะก่อนเกิดภาวะสมองเสื่อม แนะควรพักผ่อนให้เป็นเวลา และเพียงพอต่อร่างกาย

ภาพประกอบ

โพสต์ระบุดังนี้

การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Neurology เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2024 พบว่าผู้สูงอายุที่มีอาการง่วงนอนมากเกินไปในเวลากลางวันมีความเสี่ยงสูงขึ้นในการพัฒนาเป็นภาวะก่อนเกิดภาวะสมองเสื่อม (Motoric Cognitive Risk Syndrome – MCR) ซึ่งมีลักษณะเฉพาะคือ การเดินช้าลง และมีปัญหาด้านความจำ 

Motoric Cognitive Risk Syndrome (MCR) คือ ภาวะก่อนเกิดภาวะสมองเสื่อม (pre-dementia syndrome) ที่มีลักษณะสำคัญคือ การเดินช้าลงร่วมกับปัญหาด้านความจำ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่โรคสมองเสื่อม เช่น อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) หรือ ภาวะสมองเสื่อมจากหลอดเลือด (Vascular Dementia) ในอนาคต 

ภาพประกอบ

รายละเอียดการศึกษา

1. ผู้เข้าร่วม: ผู้สูงอายุ 445 คน อายุ 65 ปีขึ้นไป ที่อาศัยอยู่ในชุมชน 

2. การประเมิน: แบ่งผู้เข้าร่วมเป็นกลุ่มที่มีคุณภาพการนอนหลับดีและไม่ดี 

3. ผลลัพธ์: 35% ของผู้ที่มีอาการง่วงนอนมากเกินไปในเวลากลางวันพัฒนาเป็น MCR ในขณะที่เพียง 6.7% ของผู้ที่ไม่มีอาการดังกล่าวพัฒนาเป็น MCR 


ความสำคัญ : อาการง่วงนอนมากเกินไปในเวลากลางวันอาจเป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าของการเสื่อมถอยทางสมอง การตรวจสอบและจัดการปัญหาการนอนหลับอาจช่วยลดความเสี่ยงในการพัฒนาเป็นภาวะสมองเสื่อมในอนาคตได้นะครับ 

คนที่นอนหลับเพียงพอ ระบบน้ำเหลืองในสมองซึ่งทำหน้าที่สูบของเสียจะทำงานและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน เมื่อนอนหลับไม่เพียงพอ สมองจะไม่สามารถทำสิ่งที่จำเป็นในการฟื้นฟูตัวเองได้ในช่วงกลางคืน จึงทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้ในอนาคต 

ภาพประกอบ

คำแนะนำ : 

1. หากคุณหรือคนใกล้ตัวมีอาการง่วงนอนมากเกินไปในเวลากลางวัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินและจัดการปัญหาการนอนหลับ 

2. การปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับ เช่น การรักษาเวลานอนที่สม่ำเสมอ และการหลีกเลี่ยงคาเฟอีนก่อนนอน อาจช่วยลดความเสี่ยงในการพัฒนาเป็นภาวะสมองเสื่อม 

การดูแลสุขภาพการนอนหลับเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการเสื่อมถอยทางสมองและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีนะครับ 


อ้างอิงข้อมูล : Leroy V, Ayers E, Adhikari D, Verghese J. Association of Sleep Disturbances With Prevalent and Incident Motoric Cognitive Risk Syndrome in Community-Residing Older Adults. Neurology. 2024 Dec 10;103(11):e210054. doi: 10.1212/WNL.0000000000210054. Epub 2024 Nov 6. PMID: 39504508; PMCID: PMC11540459. 

เรียบเรียงโดย: รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี #หมอหมูวีระศักดิ์ #ตีแผ่ทุกความจริงด้วยวิทยาศาสตร์ 

ทั้งนี้ หมอหมู กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูลทั้งหมดที่ผมนำเสนอมีการอ้างอิงแหล่งที่มาชัดเจน และผมได้พยายามอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ แต่บางครั้งอาจมีการโต้แย้งในข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องปกติในแวดวงวิชาการ ดังนั้นจึงขอเรียนทุกท่านว่า โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านบทความของผม และควรหาข้อมูลเพื่มเติมเพื่อความถูกต้องอีกครั้งด้วยนะครับ

ขอบคุณข้อมูล : เฟซบุ๊ก “หมอหมู วีระศักดิ์”