
สงสัยกันมั้ยว่าเวลา “ขาบวม” เกิดจากอะไรได้บ้าง? วันนี้มีคำตอบ…
วันนี้ (25 เม.ย.68) เพจเฟซบุ๊ก Tensia เพจที่นำเสนอวิทยาศาสตร์การแพทย์ เน้นความเข้าใจเชิงกลไก ไปพร้อมกับตัวการ์ตูนของเพจ ที่เล่าเรื่องราวหลากหลายอารมณ์ ทั้งสาระและบันเทิง ได้ออกมาโพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับการเกิด “ขาบวม” ซึ่งมีการอธิบายต่อว่ากลไกการเกิดนั้นมีอะไรบ้าง โดยระบุข้อความว่า…

“ขาบวม กลไกเกิดจากอะไรได้บ้าง?
ในภาวะปกติ:
เมื่อเลือดเดินทางถึงหลอดเลือดฝอย
-เลือดบางส่วนจะกรองออกไปข้างนอก
(เม็ดเลือดไม่ได้ตามไปด้วย)
→ พาสารอาหารไปให้เซลล์
→ ของเหลวที่เหลือไหลเข้าหลอดน้ำเหลือง
→ หลอดน้ำเหลืองเทของเหลวกลับเข้าระบบเลือดดำ แล้วกลับสู่หัวใจต่อไป
*ส่วนเลือดที่ไม่ได้ถูกกรองออกไป
จะไหลผ่านหลอดเลือดฝอยไปยังระบบเลือดดำ
กรองมากกรองน้อยขึ้นกับอะไร?
1. ความดันเลือดฝอย: ถ้าสูง → กรองเยอะ
2. ความดันอุ้มน้ำ: ถ้าต่ำ → กรองเยอะ
3. สภาพรูของหลอดเลือดฝอย: ถ้ารูกว้าง → กรองเยอะ
พอทราบหลักการคร่าวๆ แล้ว ก็ง่ายแล้วค่ะ
บวม (Edema) คือการสะสมของเหลว
ที่เนื้อเยื่อนั้นๆ มากเกินไป แบบขาในภาพ
ของเหลวที่ว่ามันคือน้ำที่กรอง
ออกมาจากหลอดเลือดฝอยนั่นแหละ
ดังนั้นของเหลวสะสมมากขึ้นจึงเกิดได้จาก
1. กรองออกมาเยอะเกิน
2. ของเหลวไม่ยอมระบายออกไป
1. กรองออกมาเยอะเกินไป เช่น
-ความดันหลอดเลือดฝอยสูงไป อาจเกิดจาก
* เลือดไหลเข้าเยอะ: เช่นใช้ยาลดความดันขยายหลอดเลือด (Amlodipine/Adalat), ปริมาตรเลือดเยอะขึ้นจากช่วงก่อนมีประจำเดือน (บวมเล็กน้อย), ไตวาย/ไตเสื่อมเรื้อรัง ขับน้ำไม่ออก
*เลือดระบายออกไปทางเลือดดำช้า: เช่น โรคหัวใจล้มเหลวที่เลือดต่อคิวทยอยเข้าหัวใจช้า, โรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่ขา, มดลูกในคนท้องใกล้คลอด กดทับหลอดเลือด
-ความดันอุ้มน้ำน้อยไป – โดยความดันนี้จะขึ้นกับปริมาณโปรตีนในเลือดเลยค่ะ ดังนั้นมันจึงเจอในโรคที่มีโปรตีนในเลือดต่ำ
* ตับสร้างน้อย: เช่น โรคตับแข็ง, โรคทุโภชนาการขาดโปรตีน
* เสียออกไปมาก: เช่น โรคไตรั่วโปรตีน (Nephrotic syndrome), โรคลำไส้เสียโปรตีน (Protein-losing enteropathy)
-ผนังหลอดเลือดฝอยรูใหญ่ขึ้น: มักเกิดจากโรคที่มีสารก่ออักเสบตรงจุดนั้นสูง เช่น มีการติดเชื้อตรงตำแหน่งที่บวม
-เนื้อเยื่อมีการสะสมของที่ดึงดูดน้ำ เช่น ภาวะไทรอยด์ต่ำ จะมีการสร้างสารชื่อ mucopolysaccharide สะสมตามผิวหนัง จึงดูดให้น้ำรั่วออกมาสะสมรอบตัวมัน
2. ของเหลวไม่ยอมระบายออกไป
เนื่องจากของเหลวต้อฝออกทางระบบน้ำเหลือง ดังนั้นถ้าระบบนี้อุดตันก็สะสมจนบวมได้ เช่น ตัดต่อมน้ำเหลือง, มีการกดทับท่อน้ำเหลือง, ติดพยาธิเท้าช้าง
***สรุปสั้นๆ:
บวม = น้ำมากไปเพราะ “กรองเยอะ” หรือ “ระบายไม่ได้”
ใครพบแล้วบวมอย่างมีนัยสำคัญจริงๆ ต้องพบแพทย์นะคะ
ปล. ในภาพเรียกว่าบวมแบบกดบุ๋มค่ะ ปล่อยนิ้วออกมาแล้ว ยังไม่ให้หายบุ๋มเลย”
นี่ก็เป็นอีก 1 ความรู้และเคสตัวอย่างนะคะเกี่ยวกับการมี “ขาบวม” ขึ้นมาที่อาจเกิดจาก ระบบภายในทำงาน ทั้งนี้หากใครที่เกิด ขาบวม ผิดปกติและรู้สึกว่า กดแล้วบุ๋มลงไปแบบภาพดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ในทันทีค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก เพจ Tensia https://www.facebook.com/share/p/16fH8XsQzf/