
วานนี้ (16 ก.พ.68) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ในไทย ณ ปัจจุบัน ว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2568 – ปัจจุบัน พบมีผู้ติดเชื้อแล้วทั้งหมด 99,057 ราย โดยพบผู้เสียชีวิตแล้ว 9 ราย ซึ่งเมื่อเทียบกับข้อมูลเดิม เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2568 มีผู้ติดเชื้อ เพียง 7,819 ราย ทำให้พบว่า ภายในช่วง 15 วันที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นถึง 91,238 ราย ถือว่าแนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้นมาก เมื่อเทียบกับปี 2567 และตัวเลขผู้ป่วยยังสูงกว่าค่ากลางย้อนหลัง 5 ปี

ทั้งนี้ การระบาดเป็นกลุ่มก้อนพบ 15 เหตุการณ์ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่โรงเรียน ขณะที่กลุ่มจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดมากที่สุดคือ เขตสุขภาพที่ 9 ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ พบผู้ป่วยสะสมแล้ว 6,938 ราย โดยในจำนวนนี้เสียชีวิตถึง 3 ราย นอกจากนี้ พบผู้ป่วยมากที่สุดในกลุ่มเด็กอายุ 5 – 9 ปี รองลงมาคือ เด็กอายุ 4 ปี และอายุ 3 ปี
นายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “บุคคลกลุ่มเสี่ยงโรครุนแรง ได้แก่ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน หญิงตั้งครรภ์ และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิต”

ส่วนคำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป สามารถป้องกันได้ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำสำหรับโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ดังนี้
1. ปิดปาก และจมูกขณะไอหรือจาม
2. หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค
3. หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดที่มีอากาศถ่ายเทไม่ดี
4. หากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่บ้าน 3-7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อลดการแพร่เชื้อ และหากอาการไม่ดีขึ้น เช่น หอบเหนื่อย ซึมลง รับประทานอาหารได้น้อย ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนการป้องกัน และส่งเสริมสุขภาพของ สธ. คือ ส่งเสริมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยมีการรณรงค์ฉีดวัคซีน ตั้งแต่เดือน พ.ค. ตามวงรอบการระบาดใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งมีวัคซีนจำนวน 4.5 ล้านโดส โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำลังอยู่ระหว่างวางแผนกระจายวัคซีนไปสถานพยาบาล ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายหลัก 7 กลุ่ม ตามสิทธิประโยชน์ สปสช. ดังนี้
1. เด็กอายุ 6 เดือน – 2 ปี
2. ผู้สูงอายุที่อายุ 65 ปีขึ้นไป
3. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
4. ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน
5. ผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
6. ผู้ที่ป่วยเป็นโรคอ้วน มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป หรือดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
7. หญิงตั้งครรภ์ แนะนำให้ฉีดเมื่ออายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
8. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข สนับสนุนโดยกรมควบคุมโรค