
สงกรานต์นี้ อย่าปาร์ตี้จนลืมพักผ่อน สายดื่มสายดริ๊งก์ก็เบาได้เบา พักตับกันบ้าง แล้วก็อย่าลืมหมั่นเช็กสุขภาพกันด้วยล่ะ
วานนี้ (10 เม.ย.68) นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก หมอเจด เผย 5 สัญญาณตับแข็ง สังเกตง่ายๆ ได้จากผิวหนัง ระบุว่า…
“รู้ไหมว่าตับเป็นอวัยวะที่ทำงานหนักสุดๆ ทั้งช่วยจัดการสารพิษ สร้างโปรตีน ควบคุมฮอร์โมน ย่อยไขมัน
แต่ถ้าตับเริ่มมีปัญหา มันจะไม่ปวดหรือเจ็บชัดๆ เหมือนอย่างอื่นนะ แต่บางทีมันก็จะค่อยๆ แสดงออกทางผิวหนัง
วันนี้เราเลยอยากชวนมาสังเกต 5 อาการที่เจอบนผิวเราเนี่ยแหละ ที่อาจกำลังแอบบอกว่า “ตับเราน่าจะเริ่มมีปัญหาแล้วนะ”
1. ผิวเหลือง ตาเหลือง
ลองส่องกระจกดูดี ๆ ถ้าเริ่มรู้สึกว่าหน้าดูเหลืองๆ แปลกๆ นี่แหละอาจเป็นสัญญาณแรกของภาวะที่เรียกว่า “ดีซ่าน” ซึ่งมันคือการที่ร่างกายเรามีสารที่ชื่อว่า “บิลิรูบิน” มากเกินไป เจ้าสารนี้เกิดจากตอนที่ร่างกายเรากำจัดเม็ดเลือดแดงเก่า แล้วปกติตับจะช่วยเอาออกไปทางน้ำดี ถ้าตับเริ่มทำงานไม่ดี ไม่ว่าจะจากการอักเสบ ตับแข็ง หรือท่อน้ำดีอุดตัน บิลิรูบินจะค้างในเลือด แล้วทำให้ผิวกับตาดูเหลืองๆ ขึ้นมานั่นแหละ
2. เส้นเลือดฝอยเหมือนใยแมงมุม
ถ้าสังเกตตรงใบหน้า คอ อกส่วนบน และแขน แล้วมีมีเส้นเลือดแตกแขนงออกคล้ายใยแมงมุม ถ้ามีแบบนี้เยอะๆ อย่ามองข้ามนะ เพราะมันเรียกว่า “Spider angioma” ซึ่งเจอบ่อยในคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับ โดยเฉพาะตับแข็ง สาเหตุหลักคือ พอตับทำงานไม่ดี มันจะเคลียร์ฮอร์โมนพวกเอสโตรเจนไม่ได้ ฮอร์โมนพวกนี้พอสะสมเยอะ ก็จะไปทำให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวขยายตัว เลยกลายเป็นใยแมงมุมแบบที่เห็น ใครเริ่มมีจุดพวกนี้ขึ้นหลายจุด แนะนำให้เช็กตับด่วนครับ

3. คันทั้งตัว แต่ไม่มีผื่น
เคยเป็นไหม? อยู่ดีๆ ก็คันทั้งตัว โดยเฉพาะตอนกลางคืน คันแบบไม่มีผื่น ไม่มีตุ่ม เกาแค่ไหนก็ไม่หาย คันจนหงุดหงิดนอนไม่หลับเลยนั่นแหละ บางคนคิดว่าแพ้อะไรสักอย่าง แต่จริงๆ แล้วตับอาจเป็นต้นเหตุ เรื่องของเรื่องคือ ถ้าตับมีปัญหา เช่น โรคตับอักเสบเรื้อรัง ในโรคที่เกี่ยวกับการอุดตันของทางเดินน้ำดี (เช่น PBC) น้ำดีมันจะไหลไม่สะดวก แล้วเกิดการคั่งในร่างกาย สารพวกนี้จะไปกระตุ้นปลายประสาทใต้ผิว ทำให้คันหนักมาก ถ้าคันแบบหาสาเหตุไม่เจอ ลองนึกถึงเรื่องตับด้วยนะ
4. ช้ำง่าย ทั้งที่ไม่ได้ชนอะไรแรงเลย
เคยเจอแบบนี้ไหม? อยู่ดีๆ แขน ขา มีรอยช้ำๆ เหมือนโดนอะไรมา แต่เราก็ไม่ได้กระแทกอะไรสักอย่าง หรือแค่เกานิดเดียวก็เป็นจ้ำแล้ว ถ้าใช่ อาจต้องหันมามองตับแล้วล่ะ เพราะตับมีหน้าที่สร้างโปรตีนที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว ถ้ามันทำงานไม่ดี โปรตีนพวกนี้จะลดลง ส่งผลให้เลือดหยุดไหลยาก แล้วก็ทำให้เราเป็นรอยฟกช้ำง่ายกว่าเดิม
นอกจากนี้ในบางคนที่มีตับแข็งร่วมกับม้ามโต ม้ามจะไปทำลายเกล็ดเลือดมากขึ้นอีก ยิ่งทำให้เกิดรอยช้ำหรือจ้ำเลือดง่ายขึ้นไปอีก ถ้าช้ำง่ายแบบไม่มีเหตุผล อย่าลืมเรื่องตับมีปัญหานะครับ ซึ่งอาการนี้พบได้บ่อยในโรค ตับแข็ง (Cirrhosis) โดยเฉพาะเมื่อมีภาวะร่วมอย่าง ม้ามโต (Hypersplenism) ซึ่งทำให้เกล็ดเลือดต่ำยิ่งขึ้นไปอีก

5. มือแดงแบบแปลก ๆ
ลองดูฝ่ามือตัวเองดูหน่อย ถ้าตรงโคนนิ้วโป้งหรือนิ้วก้อยแดงแบบไม่รู้สาเหตุ ทั้งที่ไม่ได้จับของร้อน ไม่ได้เพิ่งออกแรงหรือออกกำลัง อาจเป็นภาวะที่เรียกว่า “Palmar erythema” มือแดงแบบนี้เกี่ยวข้องกับตับที่เริ่มทำงานผิดปกติ โดยเฉพาะในคนที่มีตับแข็งจากดื่มแอลกอฮอล์หรือจากสาเหตุอื่นๆ เพราะตับไม่สามารถเคลียร์ฮอร์โมนส่วนเกินได้อีกแล้ว ฮอร์โมนพวกนี้ไปทำให้เส้นเลือดฝ่ามือขยายตัวแบบไม่ปกติ จนมือแดงขึ้นมา บางคนมือแดงมาเป็นปีๆ แล้วไม่รู้ว่าเกี่ยวกับตับก็มีนะ
อาการนี้มันจะสัมพันธ์กับ โรคตับแข็ง และโรคตับจากแอลกอฮอล์ อย่าคิดว่าตับจะแข็งแรงแค่ไม่ดื่มเหล้า เพราะพฤติกรรมหลายอย่างก็ทำร้ายตับได้เหมือนกัน เช่น กินของทอด ของมัน ของหวานบ่อยๆ ดื่มน้ำอัดลมหรือชาไข่มุกแทนน้ำเปล่าเป็นประจำ นอนดึกทุกวัน เครียดสะสม ไม่ออกกำลังกาย หรือแม้แต่กินยาพาราหรือสมุนไพรบางชนิดติดต่อกันโดยไม่รู้ว่าเป็นพิษต่อตับ
นี่ยังไม่รวมถึงเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง น้ำหนักเกิน หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคตับ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ค่อยๆ ทำให้ตับเสื่อมลงเรื่อยๆ ได้ทั้งนั้น เพราะความเสี่ยงมีมากกว่านั้นเยอะ
ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง น้ำหนักเกิน กินยาบางชนิดบ่อยๆ หรือแม้แต่พันธุกรรมในครอบครัว ก็ทำให้ตับพังได้เหมือนกัน
การดูแลตับไม่ได้ยากเท่าที่คิดเลย แค่เริ่มต้นจากพฤติกรรมง่าย ๆ ที่ทำได้ทุกวัน เช่น
– กินอาหารที่ดีต่อตับ เช่น ผักใบเขียว ผลไม้สด ธัญพืชไม่ขัดสี หลีกเลี่ยงของทอด ของมัน และอาหารแปรรูป
– ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ช่วยให้ตับขับของเสียได้ดีขึ้น
– ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 3-5 วันต่อสัปดาห์ เพื่อควบคุมน้ำหนักและลดไขมันสะสมที่ตับ
– งดเหล้า เบียร์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะเป็นตัวการหลักทำร้ายตับโดยตรง
– นอนให้พอ และลดความเครียด เพราะทั้งสองอย่างมีผลต่อการอักเสบและการซ่อมแซมของตับ
– หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะยาที่ต้องผ่านการกรองจากตับ เช่น พาราเซตามอล หรือสมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐาน
– เสริมวิตามินและสารอาหารช่วยบำรุงตับ
•วิตามิน E: ลดการอักเสบของตับ
•Dandelion (แดนดิไลออน): ช่วยขับสารพิษออกจากตับ
•โคลีน (Choline): ลดความเสี่ยงไขมันพอกตับ
อย่าลืมดูแลตัวเองกันด้วยนะคะ อย่าปล่อยให้สายเกินไปค่ะ ‘อีจัน’ เป็นห่วง