
ชัยวัฒน์ลุย! สู้ต่อเพื่อช้างป่า ค้านวัคซีนคุมกำเนิดช้าง! นอกจากแก้ปัญหาไม่ตรงจุดแล้ว ยังไม่สามารถรับรองได้ว่าสถิติจำนวนช้างที่นับกันมาชัวร์กี่เปอร์เซ็นต์?
ประเด็น “นำร่องฉีดวัคซีนคุมกำเนิด” ยังคงถูกพูดถึงและถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับ สถานการณ์และการแก้ไขปัญหาช้างป่า “การคุมกำเนิดเพื่อลดอัตราการเพิ่มของประชากรช้างในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก” เมื่อวันที่ 16 ม.ค.68 จึงเกิดการพูดถึง ถกเถียงกันในสังคมเป็นอย่างมาก ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และ ไม่เห็นด้วย
และหนึ่งในผู้ที่ออกมาคัดค้าน ตั้งคำถาม จุดประเด็นข้อสงสัย อย่าง นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีต ผอ.สำนักอุทยาน ที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมชี้แจงสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาช้างป่า เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ที่ผ่านมา
ซึ่งในการประชุม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานฯ ได้กล่าวไว้ว่า ปัจจุบันมีช้างป่าที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติราว 4,013-4,422 ตัว ใน 16 กลุ่มป่า เป็นพื้นที่อนุรักษ์ 91 แห่ง สำหรับพื้นที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่ารุนแรงมาก 5 กลุ่มป่า คือ กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าตะวันออก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว และกลุ่มป่าแก่งกระจาน ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างเกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์กว่า 41 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 42 จังหวัดทั่วประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในบางพื้นที่ที่ถิ่นอาศัยไม่สามารถรองรับประชากรช้างป่าได้แล้ว
ส่วนหนึ่งออกมาหากินนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่อยู่อาศัย และบางแห่งรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ตั้งแต่ปี 2555 – ปัจจุบัน มีประชาชนเสียชีวิตจากช้างป่า 240 ราย ได้รับบาดเจ็บ 208 ราย และยังมีความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทรัพย์สินและพืชผลของประชาชนอีกเป็นจำนวนมาก รวมถึงอันตรายแก่ตัวช้างป่าหรือสัตว์ป่า
นายอรรถพล กล่าวว่า กรมอุทยานฯ จึงต้องแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยดำเนินตามแนวทางคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง ตามกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาช้างป่า 6 ด้าน ได้แก่ 1.การจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของช้างป่า 2.แนวป้องกันช้างป่า 3.ชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า และเครือข่ายชุมชน 4.การช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า 5.การจัดการพื้นที่รองรับช้างป่าอย่างยั่งยืน และ 6.การควบคุมประชากรช้างป่าด้วยวัคซีนคุมกำเนิด ซึ่งการควบคุมประชากรช้างป่าด้วยวัคซีนคุมกำเนิด เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนและเป็นข้อสั่งการของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่ได้มอบหมายให้กรมอุทยานฯดำเนินการโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ประชากรช้างป่าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในบางพื้นที่ที่ถิ่นอาศัยไม่สามารถรองรับประชากรดังกล่าวได้เพียงพอ…
ซึ่งในที่ประชุม นายชัยวัฒน์ อดีต ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า ไม่ได้คัดค้านการใช้วัคซีนคุมกำเนิดช้าง และเข้าใจผลกระทบที่ชาวบ้านทุกพื้นที่ แต่มองว่าการนำเข้าวัคซีนซึ่งมีราคาแพงมาใช้อาจไม่คุ้มค่า รวมถึงขั้นตอนในป่าที่ต้องใช้ทีมสัตวแพทย์ในการเข้าถึงช้าง ที่ค่อนข้างเสี่ยงทั้งคนและช้าง พร้อมตั้งคำถามว่าประชากรช้างป่าเพิ่มขึ้นจากปี 2520 จริงหรือไม่ ซึ่งถ้าเทียบตัวเลขอดีตจนถึงปี 2567 ที่กรมอุทยานฯ ระบุว่ามีช้างป่าเพิ่มจำนวนกว่า 4,422 ตัว
“มองว่าการใช้วัคซีนคุมกำเนิดไม่ถูกจุดในการป้องกันช้างออกนอกพื้นที่ป่าได้ โดยเฉพาะป่ารอยต่อ 5 จังหวัดตะวันออก ช้างออกนอกพื้นที่ที่อาจต้องหาพื้นที่รอบๆ ที่ถูกบุกรุกคืนให้เป็นถิ่นอาศัยของช้าง และมองว่าควรยกเลิกโครงการนี้ และหาทางเลือกอื่น”
ล่าสุด นายชัยวัฒน์ ได้ออกมาโพสต์ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงการไม่เห็นด้วย กับการชี้แจงข้อมูลสถิติประชากรช้าง และได้ตั้งข้อสังเกต การนับประชากรช้างที่เพิ่มขึ้น สูงกว่าความเป็นจริงหรือไม่? ใช้วิธีการไหนนับ? ทำไมข้อมูลแต่ละที่ ที่ออกมาถึงไม่ตรงกัน พร้อมตั้งคำถามถึงเหตุผลแท้จึงของการออกนอกพื้นที่ของช้างป่าอ่างฤาไน รวมถึงการดำเนินการตามกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาช้างป่า 6 ด้าน ว่า “ก่อนจะไปถึงข้อสุดท้ายการคุมกำเนิดช้างป่า ข้อที่ 1-5 ทางกรมอุทยานฯ ได้ลงมือทำอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง?” และยังได้ทำคลิปสื่อสารเรื่องราวที่มาปัญหาช้างป่า กับ คน รวมถึงแนวความคิดในการแก้ไขปัญหา ให้ความรู้เรื่องช้างแก่ประชาชนด้วย





ทั้งนี้ ในวันพุธที่ 29 ม.ค.68 นายชัยวัฒน์ จะเข้าร่วมกิจกรรม NPAT Nature Talk ครั้งที่ 56 ช้างป่า : ปัญหาและการแก้ไข ซึ่งจัดโดยสมาคมอุทยานแห่งชาติ
ซึ่งประเด็นวัคซีนคุมกำเนิดช้าง! ยังเป็นข้อถกเถียงในสังคม
หลัง “กรมอุทยานฯ” โพสต์ข้อมูลพื้นที่ช้าง รุกสู่การนำร่องใช้วัคซีนคุมกำเนิด
แนวทางการแก้ปัญหาช้างป่า ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป