
หลังจากเมื่อไม่นานมานี้ มีการแชร์ภาพถ่ายเปรียบเทียบสภาพความเปลี่ยนแปลง ในพื้นที่บริเวณผาหัวสิงห์ ระหว่าง ปี พ.ศ. 2559 กับปี พ.ศ. 2568 เป็นภาพที่ทำให้ทุกคน ที่มีหัวใจในการอนุรักษ์ผืนป่าต้องตกใจ! มีผู้คนออกมาแสดงความคิดเห็นกันไปต่าง ๆ นา ๆ และเกิดคำถามต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่า… “ปล่อยมาได้อย่างไร?”

ในวันที่ภูทับเบิกเปลี่ยนไป
ภูทับเบิกเป็นพื้นที่ภายใต้การดูแลของหน่วยงาน 3 ส่วนด้วยกัน ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติ, กรมป่าไม้ และ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ที่เห็นในภาพ บริเวณนี้ คือ “ผาหัวสิงห์” จุดที่เคยถูกดำเนินคดี โดยหน่วยพญาเสือ นำทีมโดย นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสำนักอุทยานในขณะนั้น

นายชัยวัฒน์ เล่าว่า เรื่องการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่หวงห้าม ตอนขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่ในตอนนั้น ก็ได้ถูกชุมชนเข้ามาปิดทาง เอารถมาขวาง เอาผู้หญิงและเด็กมาเป็นโล่กำแพง ซึ่งขณะนั้นในยุค คสช. ได้มีหนังสือจากราชการออกมาอย่างชัดเจน เรื่องมาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครอง และใช้ประโยชน์ที่ดินป่าภูทับเบิก ในท้องที่ตำบลวังบาล และ ตำบลบ้านเนิน อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีเนื้อหาว่า
โดยที่ปรากฏว่า พื้นที่ป่าภูทับเบิกในท้องที่อำเภอหล่มเก่าจังหวัดเพชรบูรณ์ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ที่อยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 A ชั้นที่ 1 B และ ชั้นที่ 2 ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญ ของแม่น้ำป่าสักถูกบุกรุกถือครองโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ว่าด้วยป่าไม้และนำไปก่อสร้างโรงแรมสถานที่พักตากอากาศและ ร้านค้าที่มีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจ อีกทั้งสิ่งก่อสร้างดังกล่าวยังมีความไม่มั่นคงแข็งแรง ตามหลักวิศวกรรมหรือมาตรฐานความปลอดภัยด้านวิศวกรรม ปิดกั้นทางไหลของน้ำ และ เสี่ยงต่อการพังทลายของดิน อันอาจก่อให้เกิดอุบัติภัยและความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว และ ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศได้ จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดมาตรการในการระงับปราบปราม และ ป้องกันการกระทำการที่มีผลกระทบในพื้นที่ป่าภูทับเบิกเพื่อให้เกิดความ ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อให้มีการเร่งฟื้นฟูป่าภูทับเบิกให้กลับคืนสู่สภาพเดิม รวมทั้งอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ…






ทั้งนี้ ในปี 2558 เจ้าหน้าที่ได้มีคำสั่งให้ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้สร้างสิ่งปลูกสร้างบริเวณจุดนี้ จึงมีคำถามว่า จากภาพถ่ายที่เห็น ปี 2559 – 2568 ปล่อยปละละเลยกันมาได้อย่างไร เหมือนทำให้กลุ่มทุน สุดท้ายที่ดินเป็นของกลุ่มทุน เหลือเป็นชาวบ้านจริง ๆ เพียงไม่กี่ราย ขณะเดียวกัน ชาวบ้านบางรายก็อ้างว่าตัวเองมาอยู่ก่อน ทำกินมาก่อน ซึ่งความจริงแล้วขณะที่เข้าไปจับกุม มีการแปลภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งเห็นอย่างชัดเจนว่า ก่อนหน้านั้นมันไม่มีสิ่งบุกรุก ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง มีชาวบ้านที่ทำกินอยู่บริเวณนี้เพียงไม่กี่ราย
ในส่วนที่หลายคนสงสัยว่า ถ้าไม่มีคนเข้าไปทำกิน ทำการเกษตร ทำไมถึงเป็นพื้นที่โล่ง จริง ๆ แล้ว บริเวณนั้นเป็นเขาที่สูง พื้นที่จึงเป็นต้นหญ้า ที่มีเฉพาะหญ้าคาขึ้น ไม่ได้มีลักษณะที่เป็นต้นไม้ทึบ แต่ต้นไม้นั้นบ้างแต่ไเยอะ จึงดูเหมือนเป็นพื้นที่ที่มีการถูกเปิดเข้าไปใช้งาน และมีชาวบ้านบางส่วนเข้าไปทำกินกันแบบปกติธุระ ปลูกข้าวบ้าง ปลูกข้าวโพดบ้าง กลุ่มทุนเข้าไปซื้อขายเปลี่ยนมือกันเยอะมาก
และในความเป็นจริงกรมป่าไม้ดำเนินคดีหมดแล้ว แต่ปัญหา คือ ความเห็นของอัยการจังหวัดมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ทั้งที่ประกาศคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเขียนไว้ชัดเจน ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ไม่สามารถอนุญาตให้สร้างสิ่งปลูกสร้าง และ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรื้อถอนโดยเร็ว เมื่อส่งคดีไป อัยการกลับสั่งไม่ฟ้อง บอกว่าหลักฐานไม่เพียงพอ สะท้อนให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ได้ปฏิบัติหน้าที่ ปกป้องผืนป่าอย่างเอาจริงเอาจัง แต่คดีกลับไปในทิศทางลักษณะอย่างนี้ ถึงบอกว่าคดีแบบนี้ต้องยื่นไปที่อัยการสูงสุด จริง ๆ แล้วในกระบวนการตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ได้ส่งข้อมูลไปหมดแล้วว่า มีการจำแนกพื้นที่ป่าอย่างไร พอให้มาชี้พื้นที่ ก็พบว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้ จึงดำเนินการจับกุม ตามมาตรา 54 พ.ร.บ. ป่าไม้ ๒๔๘๔ บุกรุกแผ้วถางยึดถือครอบครอง ไม่เห็นจะต้องแปลความอะไรเลย แต่อัยการจังหวัดกลับมีคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด ก็ยังคาใจในคำวินิจฉัยอยู่ ก็ต้องคุยกันว่า จริง ๆ แล้วกรมป่าไม้ จับดำเนินคดีหมดแล้ว สิ่งเหล่านี้มันคือข้อเท็จจริง ที่เกิดขึ้นในภูทับเบิก
วันนี้ จึงอยากเน้นย้ำว่า การจัดตั้งหน่วยพญาเสือนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะตอนที่ไปจับคดีนี้ ก็ใช้หน่วยพญาเสือเข้าไปจับ และได้มีการสั่งรื้อถอน ในเสร็จสิ้น ในปี 2558 แต่วันนี้ เมื่อไม่มีหน่วยพญาเสือ เข้าไปดำเนินการ สภาพก็เป็นอย่างที่เห็น ตอนนี้ ทั้งกรมอุทยานฯ หน่วยงานของกรมป่าไม้ ต้องผนึกกำลังกัน เข้าไปดำเนินการด้วยความเข้มแข็ง นี่คือความจริงของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคนั้น ถึงตอนนี้ สิ่งปลูกสร้างที่เคยรื้อถอนไปแล้ว กลับมาปลูกใหม่ ทุกคนทำงานกันด้วยหัวใจ ในเรื่องการอนุรักษ์อยู่แล้ว แต่มันก็มีปัญหาอื่น ๆ ที่แทรกซ้อนเข้ามา


