ชัยวัฒน์ฟ้องศาลขอคำสั่งเพิกถอนรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ (EHIA) โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด

ชัยวัฒน์ฟ้องศาล ขอคำสั่งเพิกถอนรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ (EHIA) โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด หลังพบจัดทำข้อมูลบกพร่อง หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม

นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ได้นำคำฟ้องพร้อมเอกสารพยานหลักฐานต่าง ๆ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองจังหวัดเพชรบุรี จากกรณีการนำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการกิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างรุนแรง (EHIA) โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ของกรมชลประทาน ที่มีความบกพร่องในส่วนที่เป็นสาระสำคัญมาใช้เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด บริเวณท้องที่ตำบลขุนซ่อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี โดยยื่นฟ้องคดีต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรวมจำนวน 6 ราย ได้แก่ (1) คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (2) คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (3) กรมชลประทาน (4) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (5) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ (6) เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด เป็นโครงการของกรมชลประทาน อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์ แต่มีการกำหนดพื้นที่ดำเนินโครงการอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนซ่อง ของกรมป่าไม้ และอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ภายใต้สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดแห่งนี้ มีประเด็นที่จะต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ (EHIA) โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ของกรมชลประทาน ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 เนื่องจากการจัดทำรายงานดังกล่าวของบริษัท เอ กรุ๊ป คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ผู้รับจ้างจากกรมชลประทาน จัดทำข้อมูลที่มีความบกพร่องในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลการสำรวจชนิดป่าที่พบในพื้นที่ที่จะดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำที่ไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง โดยในรายงาน EHIA สำรวจพบเป็นป่าเบญจพรรณ และป่ารอการฟื้นฟู แต่ในข้อเท็จจริงพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นป่าดิบแล้งที่มีความอุดมสมบูรณ์


จากข้อขัดแย้งของข้อมูลทางวิชาการในหลายประเด็นของรายงาน EHIA ฉบับดังกล่าว นายชัยวัฒน์ฯ ขณะดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติในขณะนั้น จึงได้เสนอให้มีการตรวจสอบและศึกษาข้อมูลทางวิชาการ พื้นที่ดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จังหวัดจันทบุรี ขึ้น โดยใช้งบประมาณจากเงินอุทยานแห่งชาติ ดำเนินการสำรวจโดยสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทำการศึกษาข้อมูลในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินและชนิดป่า ด้านทรัพยากรป่าไม้ และด้านทรัพยากรสัตว์ป่า ซึ่งจากรายงานผลการศึกษาข้อมูลทางวิชาการ พบว่า พื้นที่ที่จะดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น มีสภาพเป็นป่าดิบแล้ง ป่าผสมผลัดใบหรือป่าเบญจพรรณ และป่าปลูก ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งบริเวณพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ โดยส่วนใหญ่มีสภาพเป็นป่าดิบแล้งที่ราบต่ำ จากการสำรวจพบระบบนิเวศเฉพาะถิ่น สังคมพืชป่าดิบแล้งที่มีกะพ้อเป็นไม้เด่น ในเรือนยอดชั้นล่าง พรรณไม้ที่พบบริเวณพื้นที่น้ำท่วมถึงและภายใต้เรือนยอดของป่าดิบแล้งแล้งแห่งนี้ เป็นสังคมกะพ้อผืนใหญ่แหล่งเดียวและเป็นผืนสุดท้ายของประเทศไทย อีกทั้งในแปลงสำรวจทรัพยากรป่าไม้ยังพบผักปลาบบัลสเลป ซึ่งเป็นพืชนิดใหม่ของโลกที่มีอยู่จำนวนน้อยในประเทศไทย พบขึ้นในระบบนิเวศเฉพาะถิ่น และเป็นพื้นที่ราบที่สำคัญที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย หากิน และเป็นเส้นทางเดินของช้างป่าและสัตว์ป่าอื่น ๆ หากมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จะเป็นแนวกีดขวางเส้นทางการเคลื่อนที่ของช้างป่า ทำให้ช้างป่าเปลี่ยนเส้นทางมาตามแนวด้านล่างของอ่างเก็บน้ำซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย และพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชน ทำให้ปัญหาความรุนแรงระหว่างคนกับช้างป่าทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และจากการศึกษายังพบความแตกต่างกันของข้อมูลด้านวิชาการในประเด็นอื่น ๆ อีกหลายประเด็น เช่น จำนวนชนิดพันธุ์ไม้ที่พบในพื้นที่ จำนวนไม้ต้น ไม้หนุ่ม/ลูกไม้ และกล้าไม้ที่สำรวจพบภายในแปลงสำรวจ ปริมาตรไม้ และจำนวนช้างป่า เป็นต้น ที่พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างยิ่ง
 
 ในการนี้นายชัยวัฒน์ฯ จึงมาร้องขอต่อศาลปกครองเพื่อโปรดพิจารณา ดังนี้
1. ขอให้ศาลปกครองได้โปรดมีคำสั่งเพิกถอนรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการกิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างรุนแรง โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ของกรมชลประทาน ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564

2. ขอให้ศาลปกครองได้โปรดมีคำสั่งชั่วคราวระงับไม่ให้นำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 มาใช้ประกอบในการพิจารณาดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ของกรมชลประทานไว้ก่อนจนกว่าศาลปกครองจะได้มีคำสั่งตามข้อ 1

3. ขอให้ศาลปกครองได้โปรดมีคำสั่งให้กรมชลประทานยกเลิกการขอใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ภายในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น โดยการนำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ ที่มีความบกพร่องในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ มาใช้ประกอบในการพิจารณาเพิกถอนอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น ต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

4. ขอให้ศาลปกครองได้โปรดมีคำสั่งให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยุติการพิจารณาการขอใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ภายในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น ของกรมชลประทาน จากการนำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ ที่มีความบกพร่องในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ มาใช้ประกอบในการพิจารณา

5. ขอให้ศาลปกครองได้โปรดมีคำสั่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของบริษัท เอ กรุ๊ป คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นผู้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ ที่มีความบกพร่องในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ฉบับดังกล่าว


โดยเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา เขต 1 ประธานที่ปรึกษาพรรคกล้าธรรม ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่เยี่ยมประชาชนชาวจันทบุรีเพื่อรับฟังปัญหาจากเกษตรกรชาวสวนทุเรียนและพืชผลต่าง ๆ ซึ่งระบุว่า “…ปัญหาของชาวจันทบุรีหลัก ๆ เกี่ยวกับน้ำ ช้าง ทุเรียน ดิน เช่น ทุเรียนมีปัญหาปลายทางคือตลาด หรือปัญหาเรื่องน้ำ หากจังหวัดจันทบุรีไม่มีน้ำทุกอย่างจบหมด มีน้อยก็มีปัญหา มีมากก็มีปัญหา การดำเนินการโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ที่ค้างคามานาน ทั้งที่มีความสำคัญต่อพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และปริมาณน้ำฝนในจังหวัดจันทบุรีมีมากถึงปีละ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบันเก็บได้เพียงแค่ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร และที่นี่เป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้เข้าประเทศปีละมหาศาล ซึ่งปัญหาของโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังโตนด คือเรื่องเป็นทางผ่านของช้าง และเป็นพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ ดังนั้น เราต้องตัดสินใจว่า จะเลือกสร้างอ่างเก็บน้ำ หรือที่จะอนุรักษ์สัตว์ อีกทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คนปัจจุบัน ท่านเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นผู้คิดที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำตรงนี้ ในสมัยที่ท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วันนี้ผมก็หวังว่าท่านยังคงเห็นความสำคัญในสิ่งที่ท่านคิด…”
 
 โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด เป็นโครงการที่มีการคัดค้านจากสถาบันการศึกษา องค์กร และมูลนิธิด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาคมอุทยานแห่งชาติ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และกลุ่มประชาชนด้านการอนุรักษ์ต่าง ๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด รวมถึงกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งการส่งหนังสือคัดค้านดังกล่าวผ่านไปยังหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรัฐบาลแล้วแต่ก็ไม่เป็นผล ในวันนี้นายชัยวัฒน์ฯ จึงได้นำเรื่องมายื่นต่อศาลปกครองเพชรบุรี เพื่อขอให้มีคำสั่งเพิกถอนรายงาน EHIA ฉบับดังกล่าว เพื่อยุติการเดินหน้าในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จังหวัดจันทบุรี