สถาบันเหล็กฯ โชว์ผลตรวจเหล็กตึก สตง. พบต่ำมาตรฐาน

”สถาบันเหล็กฯ“ โชว์ผลตรวจสอบ “เหล็ก” ตึก สตง.ถล่ม พบคุณภาพ ’ต่ำมาตรฐาน‘ พร้อมลุยเก็บตัวอย่างเพิ่ม

วันนี้ (31 มี.ค.68) นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการนำตัวอย่างเหล็กเส้น จำนวน 28 ท่อน ที่เก็บจากตึก สตง.ถล่ม เมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 จากเหตุแผ่นดินไหว มาตรวจสอบคุณภาพ ที่สถาบันเหล็กฯ ว่าได้คุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) หรือไม่ 

นายวิโรจน์กล่าวว่า สำหรับการตรวจสอบใช้เวลา 4 ชั่วโมง เหล็ก 28 ท่อน พบว่าจำนวน 15 มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน และมี 13 ท่อน ไม่ได้มาตรฐาน สถาบันฯ ไม่อยากระบุว่าเป็นไซส์ไหน เนื่องจากจะมีผลต่อการสืบค้นต่อไป นอกจากนี้ เตรียมเข้าตรวจสอบเพิ่มเติมในพื้นที่ต่อไป   

“เราไม่สามารถบอกได้ทั้งหมดว่าเหล็กตัวไหนที่ไม่ผ่านมาตรฐานเพราะมันจะมีผลกระทบต่อหน้างานที่กำลังค้นหาผู้สูญหายอยู่ที่ตึก สตง. ถล่ม เราจึงไม่กล่าว หรือบ่งชี้จนกว่าเราจะตรวจสอบและวิเคราะห์เพิ่มเติม และเราต้องเก็บตัวอย่างเพิ่มเพราะเหล็กที่นำมาวันนี้เป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้น”นายวิโรจน์กล่าว

สำหรับเหล็กเส้นที่เก็บมาจากที่เกิดเหตุ และนำมาตรวจสอบคุณภาพมีจำนวน 28 ท่อน มีทั้งหมด 7 ประเภท ประกอบด้วย เหล็กข้ออ้อย ขนาด 12 มม. จำนวน 3 เส้น  เหล็กข้ออ้อย ขนาด 16 มม. จำนวน 3 เส้น เหล็กข้ออ้อย ขนาด 20 มม. จำนวน  6  เส้น  เหล็กข้ออ้อย ขนาด 25 มม. จำนวน  2  เส้น เหล็กข้ออ้อย ขนาด 32 มม. จำนวน  7  เส้น เหล็กเส้นกลม ขนาด 9 มม. จำนวน 2  เส้น ลวดสลิง ขนาด 15.2 มม. จำนวน  5  เส้น จาก 3 บริษัท คือ SKY (บริษัทซินเคอหยวน ซึ่งเป็นผู้ผลิตจากจีน) TATA (บริษัท ทาทา สตีล ผู้ผลิตจากอินเดีย) และ TYS ( เครือบริษัทไทยคูณ ผู้ผลิตจากจีนร่วมทุนกับไทย)  

อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ยังไม่สามารถปรักปรำทั้ง 3 บริษัทได้ จนกว่าผลการตรวจสอบจะออกมาอย่างเป็นทางการ และให้ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ยืนยันอีกครั้งว่าผลของเหล็กนั้นเป็นบวกหรือลบ

ทั้งนี้ เหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน หากนำไปใช้งานก่อสร้างจะมีความเสี่ยงมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าอาคารจะพัง เพราะความจริงแล้วการเกิดเหตุตึกถล่มจะมีหลายปัจจัยทั้งโครงสร้างและแวดล้อมอื่นๆ มาประกอบด้วย


อัปเดต (1 เม.ย. 68) มีการเปิดเผยว่า เหล็ก 13 ท่อนที่ไม่ผ่านมาตรฐาน เป็นเหล็กข้ออ้อย ทั้งหมด 2 ไซส์ คือ ไซส์ 20 มิลลิเมตร จำนวน 6 ท่อน และไซส์ 32 มิลลิเมตร จำนวน 7 ท่อน โดยเหล็กทั้ง 2 ไซส์ ผลิตจากบริษัทเดียวกัน ซึ่งเป็นบริษัทเหล็กแห่งหนึ่ง ที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้สั่งปิดไปในช่วงเดือนธ.ค. 67 เนื่องจากจำหน่ายเหล็กไม่เป็นไปตามมาตรฐาน