ยังอยู่แดนลบ! หุ้นดาวโจนส์ (5 เม.ย.) ร่วงหนัก 2,231.07 จุด

ยังอยู่แดนลบ! หุ้นดาวโจนส์ (5 เม.ย.) ร่วงหนัก 2,231.07 จุด ดิ่งสุด 2 วันติด “บล. อินโนเวสท์ เอกซ์” ชี้นักเทรดผว่า “ภาษีทรัมป์” ป่วนตลาดหุ้นแดงยกแผง หวั่นฉุดเศรษฐกิจโลกถดถอย

วันนี้ (5 เม.ย.68) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 38,314.86 จุด ร่วงลง 2,231.07 จุด หรือ -5.50%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,074.08 จุด ร่วงลง 322.44 จุด หรือ -5.97% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,587.79 จุด ร่วงลง 962.82 จุด หรือ -5.82%

นับว่าเป็นหุ้นสหรัฐฯ มีการเคลื่อนไหวในแดนลบ 2 วันติดต่อกัน วันที่ 4 เม.ย.68 ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (.DJI) ปิดที่ 40,545.93 จุด ลดลง 1,679.39 จุด (-98%) ดัชนี S&P 500 (.SPX) ปิดที่ 5,396.52 จุด ลดลง 45 จุด (-4.84%) ดัชนี Nasdaq Composite (.IXIC) ปิดที่ 16,550.60 จุด ลดลง 1,050.44 จุด (-97%)

ทั้งนี้ ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ร่วง 7.9%, ดัชนี S&P500 ร่วง 9.1% และดัชนี Nasdaq ร่วง 10%

ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด บริษัทภายใต้กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ (SCBX) สรุปภาพรวมการลงทุนสัปดาห์นี้

สัปดาห์นี้ตลาดหุ้นโลกปรับตัวลงจากความเสี่ยงสงครามการค้าที่เพิ่มขึ้น ภายหลังปธน. ทรัมป์ ประกาศใช้ภาษีแบบต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff) ในอัตราที่สูงกว่าคาดแบ่งเป็น 2 ขั้น คือ 1.ภาษีรายประเทศโดยไทยจะถูกเก็บในอัตรา 36% และ 2.ประเทศอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในข้อ 1 จะถูกเก็บภาษี Broad base 10% นำไปสู่ความกังวลเศรษฐกิจชะลอตัว และมีความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มมากขึ้น

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง โดยตำแหน่งงานว่างเดือนกุมภาพันธ์ลดลงเหลือ 7.57 ล้านตำแหน่ง ต่ำกว่า แม้การจ้างงานภาคเอกชน ADP จะเพิ่มขึ้นในเดือน ม.ค. สูงกว่าคาด นอกจากนั้น PMI ภาคการผลิตของสหรัฐปรับลดลงสู่ระดับ 49.0 ในเดือน มี.ค. ต่ำกว่าคาด ขณะที่ภาคบริการเดือน มี.ค. ลดลงและต่ำกว่าคาดเช่นกัน

ด้าน EU ประกาศพร้อมตอบโต้ภาษีนำเข้าจากสหรัฐที่มองว่าไม่เป็นธรรม สอดคล้องกับจีนที่สั่งให้บริษัทจีนจำกัดการลงทุนเพิ่มเติมในสหรัฐ และเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมทันที โดยประกาศว่าจะตอบโต้หากไม่ได้รับการตอบสนอง

โดยกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวลดลง 5.4% หลังเผชิญกับความเสี่ยงภาษีที่เพิ่มขึ้น กลุ่มธนาคารปรับลดลง 4.6% จากความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยหลังการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐ ในขณะที่กลุ่มเชิงรับเช่น สินค้าจำเป็นและสาธารณูปโภคปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.7% มองเป็นความผันผวนที่น้อยและผลกระทบจากภาษีที่จำกัด

ตลาดหุ้นไทยลดลงกดดันทั้งจากผลกระทบแผ่นดินไหวในเมียนมา และการเก็บภาษีตอบโต้จากสหรัฐสูงในอัตรา 36% กว่าคาดมาก ราคาน้ำมันอ่อนตัวแรงหลัง OPEC+ ประกาศเพิ่มการผลิตในเดือน พ.ค. อีก 4.41 แสนบาร์เรลต่อวันจากแผนเดิมที่ 1.38 แสนบาร์เรลและกังวลอุปสงค์ชะลอตัว 

ตลาดหุ้นโลก 

ตลาดหุ้นโลกปรับตัวลดลงหลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ที่ประกาศภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariff) ของทรัมป์ที่มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงโดยเฉพาะหุ้นสหรัฐ ด้านจีนได้สั่งบริษัทจีนจำกัดการลงทุนเพิ่มเติมในสหรัฐ ขณะที่ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่าเศรษฐกิจเสี่ยงชะลอตัวและเงินเฟ้อสูง และประกาศว่าพร้อมที่จะตอบโต้เพิ่มเติมในมูลค่า 2.6 หมื่นล้านยูโร

ตลาดหุ้นไทย

ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงจาก 1.ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่มากขึ้นหลังประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariff) 2.ตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือนของ ธปท. ที่เริ่มแย่ลง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว 3.เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่กระทบกับความเชื่อมั่นภาคอสังหาฯ 4.รัฐบาลตั้งคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐฯ นำโดยปลัดพาณิชย์ เพื่อรับมือสงครามการค้า

ตลาดพันธบัตร

  • ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 10 ปี ปรับลดลงแรงที่ 4.01% ขณะที่ ระยะสั้น 2 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ 3.65% ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ย 2-10 ปี อยู่ที่ 36 bps 
  • ผลตอบแทนพันธบัตรไทยอายุ 10 ปี ลดลงแรงที่ 1.89% ขณะที่ระยะสั้น อายุ 2 ปี ลดลงมาอยู่ที่ 1.56% ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 13,416 ล้านบาท

ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน

  • ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (DXY) อ่อนค่าลงที่ 101.8 จุด  ขณะที่ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นที่ 146.3 เยน ด้านค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นที่ 1.11 ดอลลาร์ต่อยูโร ด้านค่าเงินเอเชีย ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงที่ 34.08 บาท ขณะที่เงินหยวนแข็งค่าขึ้นที่ระดับ 7.27 หยวน