กรมสรรพากร เปิดให้ยื่นภาษีออนไลน์ผ่าน “D-MyTax”

กรมสรรพากร เปิดให้ “ยื่นภาษีประจำปี 2567 ผ่านช่องทางออนไลน์เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th ตั้งแต่วันนี้ – 8 เม.ย.68 สำหรับใครที่ยังต้องการยื่นเอกสารในรูปแบบกระดาษอยู่ สามารถยื่นได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 มี.ค.68

วันนี้ (6 ม.ค.68) นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ผู้มีหน้าที่เสียภาษีสามารถยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด 91 ประจำปีภาษี 2567 ทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยสามารถยื่นแบบฯ ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th (คลิก)

และแอปพลิเคชัน RD Smart Tax ซึ่งมีความสะดวก รองรับการใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง และจะทำให้ผู้เสียภาษีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคืนภาษีได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

กรณียื่นแบบฯ ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร สามารถยื่นแบบฯ ผ่านระบบ e-filing และ ระบบ D-MyTax (Digital MyTax) ซึ่งเป็นระบบที่ยกระดับการให้บริการ โดยรวมระบบให้บริการทางภาษีต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน ท่านสามารถยื่นแบบฯ ทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 8 เมษายน 2568 และหากยื่นแบบฯ ด้วยกระดาษ สามารถยื่นได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2568

ทั้งนี้ การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอย่างถูกต้อง จะช่วยให้ผู้เสียภาษี ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ สำหรับผู้ที่มีภาษีต้องชำระตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป สามารถขอผ่อนชำระภาษีได้ 3 งวด

ถ้าไม่ยื่นภาษี หรือยื่นภาษีผิด จะมีผลอย่างไร ?

ถ้าไม่ยื่นภาษี จะมีผลอย่างไร หรือถ้ายื่นภาษีผิด จะมีผลอย่างไร เราขออธิบายให้เข้าใจง่ายๆ โดยแยกเป็นแต่ละกรณี ดังนี้

กรณีไม่ได้ยื่นภาษีภายในระยะเวลาที่กำหนด

หากไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90/91 หรือ 94 ภายในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี จะมีโทษดังนี้

  • ต้องระวางโทษค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร แต่สามารถขอลดค่าปรับได้
  • ต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องชำระนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี
  • ต้องเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่า หรือ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณี เงินเบี้ยปรับดังกล่าวอาจลดหรืองดได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
  • กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระค่าปรับยื่นภาษีล่าช้าเพียงอย่างเดียว (ไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร แต่สามารถขอลดค่าปรับได้)

กรณีไม่ชำระภาษีภายในระยะเวลาที่กำหนด

  • กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษีพร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ
  • กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มและค่าปรับ

กรณียื่นภาษีทัน แต่ชำระภาษีขาดหรือต่ำไป

  • ต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องชำระนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี
  • ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับ 1 เท่าหรือ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณี เงินเบี้ยปรับดังกล่าวอาจลดหรืองดได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

กรณีเจตนาละเลยไม่ยื่นภาษี

  • มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

กรณีจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จหรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษี

  • มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท

โดนภาษีย้อนหลัง ไม่มีเงินจ่าย ทำอย่างไรดี ?

หากโดนภาษีย้อนหลัง ไม่มีเงินจ่าย อย่างแรกเลยสิ่งที่ควรทำคือการขอเจรจาไกล่เกลี่ยกับกรมสรรพากร เพื่อขอผ่อนชำระ ขอลดหรือยกเว้นค่าเบี้ยปรับ เพราะหากละเลยไม่จ่ายภาษี จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายและถูกอายัดบัญชีได้

กรณีที่ต้องการผ่อนชำระภาษีนั้น ถ้ามีภาษีที่ต้องชำระจำนวนตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป ทั้งภาษีครึ่งปีและภาษีสิ้นปี ผู้เสียภาษีมีสิทธิ์ขอผ่อนชำระภาษีได้เป็น 3 งวดเท่าๆ กัน โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่มใดๆ โดยผู้เสียภาษีอาจติดต่อขอผ่อนชำระได้ที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาโดยใช้แบบบ.ช. 35 จำนวน 1 ชุด 3 แผ่น ข้อความเหมือนกันดังนี้

  • งวดที่ 1 : ชำระพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภายในวันที่ 30 กันยายน หรือวันที่ 31 มีนาคม
  • งวดที่ 2 : ชำระภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ต้องชำระงวดที่ 1
  • งวดที่ 3 : ชำระภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ต้องชำระงวดที่ 2

ถ้าภาษีงวดใดงวดหนึ่งมิได้ชำระภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ผู้เสียภาษีหมดสิทธิ์ที่จะชำระภาษีเป็น รายงวด และต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีงวดที่เหลือ