
คอลัมน์ : ห้อยหัววิเคราะห์ข่าว
การประกาศขึ้นกำแพงภาษีของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ ได้สร้างแรงกระเพื่อมต่อการค้าโลกที่มีผลกระทบต่อทุกประเทศไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ สงครามทางการค้าระหว่างสองชาติมหาอำนาจ สหรัฐฯ และจีนที่ฟาดงวงฟาดงากันไปมาด้วยการขึ้นภาษีต่างตอบแทนระหว่างกัน สหรัฐฯ ได้ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีนไปที่ 145% และอาจพุ่งไปถึง 245% ในขณะที่จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เป็น 125% รวมถึงนโยบายกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีด้วยการสั่งสายการบินของตนเองให้ระงับการรับมอบและซื้อเครื่องบินโบอิ้งที่ผลิตในสหรัฐฯ
นโยบายทางภาษีของทรัมป์และสงครามทางการค้าระหว่างสองขั้วมหาอำนาจได้สร้างปรากฏการณ์การค้าโลกซึ่งทุกประเทศจะต้องปรับตัวและปรับเปลี่ยนนโยบายและกลยุทธ์ของตนเองเพื่อให้อยู่รอดได้ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงนี้ ผู้เขียนได้จำแนกปรากฏการณ์หลักๆ มีดังต่อไปนี้…

จุดสิ้นสุดของโลกาภิวัฒน์ โลกาภิวัฒ์มีแนวคิดในการเคลื่อนย้ายการค้า การลงทุน ปัจจัยการผลิต ผลิตภัณฑ์ การขนส่งและโลจิสติกส์ ทั่วทั้งโลกอย่างเสรีโดยมีสิ่งที่มาขัดขวางการเคลื่อนย้ายหรือกำแพงภาษี ทั้งนี้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในแต่ละขั้นตอนการผลิตจนถึงมือผู้บริโภค ประเทศไทยที่มีต้นทุนการผลิตต่ำไม่ว่าจะเป็นค่าแรงและค่าครองชีพจึงมักถูกเลือกให้เป็นฐานในการประกอบหรือผลิตเพื่อส่งสินค้าสำเร็จรูปไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก อาศัยผลประโยชน์จากการปลอดกำแพงภาษีหรือกำแพงภาษีที่ต่ำ โดยมีองค์กรการค้าโลกหรือ WTO เป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทำหน้าที่ควบคุมและอำนวยสะดวกให้กับการค้าระหว่างประเทศตามหลักการของโลกาภิวัฒน์ โดยปฏิบัติต่อประเทศสมาชิกอย่างเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม นโยบายภาษีของทรัมป์และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนได้ทำลายหลักการของโลกาภิวัฒน์ลงอย่างราบคาบ การขึ้นภาษีต่างตอบแทนหรือ reciprocal tariff ถือเป็นหลักปฏิบัติของสหรัฐฯ ต่อประเทศคู่กรณีอย่างไม่เท่าเทียมถือเป็นการตอบโต้ของสหรัฐฯ ซึ่งขึ้นอยู่การกระทำของประเทศนั้นๆ เป็นกรณีๆ ไป ทั้งนี้ นโยบายภาษีของทรัมป์ถือเป็นการปิดกั้นการเคลื่อนย้ายสินค้าและปัจจัยการผลิตอื่นๆ โดยคาดหวังรายได้จากภาษีที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งเป็นการกดดันผู้ผลิตสินค้าที่มีฐานผลิตในประเทศอื่นๆ นอกสหรัฐฯ ให้มาลงทุนและจัดตั้งฐานผลิตในสหรัฐฯ เพื่อที่จะได้อานิสงส์จากการได้ยกเว้นภาษีนำเข้าดังกล่าว
การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ นโยบายภาษีทรัมป์ซึ่งกระทำต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าต่อสหรัฐฯ นำมาซึ่งการเจรจาต่อรองในระดับทวิภาคี ในขณะเดียวกัน ประเทศต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีของทรัมป์ก็จะเกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองกับประเทศมหาอำนาจทางการค้า ไม่ว่าจะเป็นประเทศสหรัฐฯ หรือจีนรวมถึงกลุ่มเศรษฐกิจอื่นๆ นอกจากนี้ การเกิดกลุ่มเศรษฐกิจต่างๆ ยังถือเป็นการสร้างตลาดใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นและก่อให้เกิดกิจกรรมการค้าระหว่างสมาชิกด้วยกันเอง มีกฎระเบียบหรือข้อปฏิบัติของกลุ่มเอง และลดการพึ่งพาตลาดนอกกลุ่มที่ไม่สามารถควบคุมได้ กลุ่ม BRICS อันประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของกลุ่มเศรษฐกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนา และความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก รวมถึงการปฏิรูประบบการเงินและการเมืองระหว่างประเทศให้สะท้อนถึงผลประโยชน์ของเศรษฐกิจเกิดใหม่ได้ดียิ่งขึ้น

เกิดสองขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ สหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีนกลายเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อและสองขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ การประกาศสงครามทางการค้าระหว่างสองประเทศได้สร้างความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่รุนแรงให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก สหรัฐฯ นำเข้ามากกว่าส่งออกส่งผลให้มีการขาดดุลการค้าประมาณ 1 ล้านล้านเหรียญต่อปี โดยสินค้าหลักของอเมริกา
ได้แก่อาวุธ พลังงานและสินค้าไฮเทคโนโลยี ในขณะที่จีนส่งออกมากกว่านำเข้าโดยได้ดุลการค้ามากกว่า 8 แสนล้านเหรียญต่อปี แต่น่าจะตกเหลือประมาณ 6-7 แสนล้านเหรียญในปีนี้จากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ สินค้าและการลงทุนจากจีนที่ส่งไปขายอย่างมากมายในสหรัฐฯ จึงต้องย้ายไปประเทศอื่นๆ เพื่อลดผลกระทบ ยกตัวอย่างเช่น เวียตนามที่ได้รับเม็ดเงินลงทุนจากประเทศจีน ซึ่งมีสัดส่วนถึง 53% ของเงินลงทุนทั้งหมดในประเทศ ในขณะที่การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนและประเทศอื่นๆ กลับนำไปสู่สภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และความอัตคัดขัดสนของคนอเมริกันเอง ท้ายสุดแล้ว ยุทธศาสตร์ของทรัมป์คือการดันขึ้นและผ่อนลงของมาตรการภาษีและการกีดกันทางการค้าอื่นๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดึงจีนและประเทศคู่กรณีอื่นๆ เข้ามาสู่โต๊ะเจรจา

สำหรับประเทศไทยแล้ว เราควรใช้โอกาสนี้ในการปฏิรูปอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ โดยเน้นที่การส่งเสริมประเภทสินค้าที่เราโดดเด่นและมีความสามารถในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอาหารและเกษตรแปรรูป โดยเน้นที่การสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ การปฏิรูปควรครอบคลุมไปถึงภาคการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะของบุคลากรให้รองรับกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงการบริหารจัดการใหม่ๆ อีกด้วย เพื่อพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันในระดับสากล นอกจากนี้ ประเทศไทยยังควรต้องเพิ่มการพึ่งพาตนเองและตลาดภายในประเทศ เพื่อทดแทนการส่งออกและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่มีแนวโน้มลดลงและเราไม่สามารถควบคุมได้
ในสงครามการค้าโลกที่กำลังวุ่นวายและส่งผลกระทบในวงกว้างอยู่ในขณะนี้ ประเทศที่สามารถยืนด้วยลำแข้งของตนเอง และมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับประเทศสมาชิกในกลุ่มหรือเครือข่ายเศรษฐกิจต่างๆ จะเป็นผู้ที่ชนะและอยู่รอดได้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดของแนวทางการพัฒนาประเทศในยุคนี้ โดยเน้นที่การพึ่งพาตนเองและแบ่งปันส่วนที่เกินให้กับประเทศอื่นๆ
ผู้เขียน : ดร.ขวัญชัย รุ่งฟ้าไพศาล อดีตบรรณาธิการ โต๊ะข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมากว่า 30 ปี