
“พิชัย” โชว์ยอดส่งออกไทย เดือนมีนาคม โตทะลุ 17.8% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ดันไตรมาสแรกปี 68 โต 15.2%
(วันนี้ 24 เม.ย.68) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม 2568 โดยระบุว่า การส่งออกของไทยขยายตัวสูงถึง 17.8% คิดเป็นมูลค่า 29,548.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นตัวเลขที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของไทย
สำหรับ ไตรมาสแรกของปี 2568 (มกราคม–มีนาคม) การส่งออกขยายตัว 15.2% รวมมูลค่า 81,532.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในแต่ละเดือนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ มกราคม 13.6%, กุมภาพันธ์ 14% และมีนาคม 17.8% ส่งผลให้ไทยมีดุลการค้าเกินดุล 1,081 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 3 เดือนแรกของปี

“การเติบโตไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในตลาดสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมตลาดอื่น ๆ ด้วย แม้ในเดือนถัดไปอาจมีผลกระทบจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ แต่เชื่อมั่นว่ายังสามารถขยายตัวเป็นบวกได้ ด้วยความร่วมมือของรัฐบาล กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชน อย่าคิดว่าเป็นวิกฤตอย่างเดียว ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส เศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง และเรายังเดินหน้าต่อไปได้”
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม 2568 มีมูลค่า 29,548.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 988,362 ล้านบาท ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ที่ 17.8% หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ 15.0%
การส่งออกของไทยได้รับแรงหนุนหลักจากสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรป ประเทศคู่ค้าเหล่านี้มีการเร่งตัวด้านการผลิต สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่ปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางความพยายามในการรับมือกับความเสี่ยงจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ส่งผลให้มีการเร่งนำเข้าสินค้าเพื่อรักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานในภาคการผลิต และบรรเทาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนและราคาสินค้าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
การส่งออกของไทย 3 เดือนแรกของปี 2568 ขยายตัวที่ 15.2% หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ 13.8%

มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนมีนาคม 2568 การส่งออก มีมูลค่า 29,548.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 17.8% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 28,575.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 10.2% ดุลการค้า เกินดุล 973.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวมการส่งออก 3 เดือนแรกของปี 2568 การส่งออก มีมูลค่า 81,532.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 15.2% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 80,451.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 7.4% ดุลการค้า เกินดุล 1,081.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนมีนาคม 2568 การส่งออก มีมูลค่า 988,362 ล้านบาท ขยายตัว 10.3% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 967,608 ล้านบาท ขยายตัว 3.2% ดุลการค้า เกินดุล 20,755 ล้านบาท ภาพรวมการส่งออก 3 เดือนแรกของปี 2568 การส่งออก มีมูลค่า 2,757,249 ล้านบาท ขยายตัว 10.5% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 2,754,544 ล้านบาท ขยายตัว 3.1% ดุลการค้า เกินดุล 2,705 ล้านบาท
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 3.1 %(YoY) กลับมาหดตัวในรอบ 9 เดือน โดยสินค้าเกษตร หดตัว 0.5 % หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 5.7 กลับมา หดตัวในรอบ 9 เดือน
สินค้าเกษตรที่ขยายตัว
- ยางพารา ขยายตัว 19.5% ขยายตัวต่อเนื่อง 17 เดือน ในตลาดจีน ญี่ปุ่น บราซิล อินเดีย และเยอรมนี
- ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัว 5.1% ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน ในตลาดสหราชอาณาจักร จีน เนเธอร์แลนด์ มาเลเซีย และไอร์แลนด์
- อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว 12.5% ขยายตัวต่อเนื่อง 18 เดือน ในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อิตาลี ฟิลิปปินส์ และอินเดีย
- ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ขยายตัว 12.1% ขยายตัวต่อเนื่อง 15 เดือน ในตลาดจีน เมียนมา กัมพูชา ลาว และออสเตรเลีย
- ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ขยายตัว 12.5% กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน ในตลาดจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย สหรัฐฯ และเวียดนาม
- ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 16.0% ขยายตัวต่อเนื่อง 18 เดือน ในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และแคนาดา

สินค้าเกษตรที่หดตัว
- ข้าว หดตัว 23.4% หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และปาปัวนิวกินี แต่ขยายตัวในตลาดอิรัก จีน แอฟริกาใต้ ฮ่องกง และแคเมอรูน
- ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว 15.1% หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน ในตลาดจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไต้หวัน และสหรัฐฯ แต่ขยายตัวในตลาด มาเลเซีย ลาว อินเดีย เวียดนาม และเนเธอร์แลนด์
- อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัว 4.7% กลับมาหดตัวในรอบ 9 เดือน ในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ลิเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และแคนาดา แต่ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ เกาหลีใต้ และ กัมพูชา
- น้ำตาลทราย หดตัว 27.7% กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน ในกลุ่มตลาดอินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว จีน และไต้หวัน แต่ขยายตัวในตลาดเกาหลีใต้ แทนซาเนีย ปาปัวนิวกินี ฮ่องกง และญี่ปุ่น
- ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ หดตัว 38.2% กลับมาหดตัวในรอบ 4 เดือน ในกลุ่มตลาดอินเดีย เวียดนาม เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และเนเธอร์แลนด์ ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย เมียนมา จีน กัมพูชา และญี่ปุ่น
สินค้าอุตสาหกรรม โตพุ่ง 23.5%
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 23.5% (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน
- เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 80.2% ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน ในตลาดสหรัฐฯ จีน เยอรมนี มาเลเซีย และไต้หวัน
- รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 5.6% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน ในกลุ่มตลาดฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และแอฟริกาใต้
- ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 17.7% ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน ในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย
- อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 69.8% ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน ในตลาดอินเดีย ฮ่องกง สหรัฐฯ สิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
- แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัว 41.5% ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน ในตลาดฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ จีน และมาเลเซีย
- เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ขยายตัว 17.3% ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน ในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน อินโดนีเซีย และสิงคโปร์)
- เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัว 19.1% ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน ในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม มาเลเซีย ออสเตรเลีย และไต้หวัน
- หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัว 22.0% ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน ในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ เม็กซิโก ไต้หวัน และสาธารณรัฐเช็ก

3 ตลาดส่งออกสำคัญ
- ตลาดลาตินอเมริกา ขยายตัว 11.5% สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
- ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัว 59.5% สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
- ตลาดสหราชอาณาจักร ขยายตัว 7.7% สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป และอัญมณีและเครื่องประดับ
แนวโน้มการส่งออกในปี 2568 ในช่วงที่เหลือของปีนี้ การส่งออกของไทยเผชิญกับความท้าทายสำคัญจากการใช้มาตรการปรับขึ้นภาษีอย่างถ้วนหน้าของสหรัฐฯ ต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งการใช้มาตรการภาษีตอบโต้ของนานาประเทศ สร้างความวิตกกังวลต่อภาพรวมการค้าโลก อันอาจนำไปสู่การชะลอตัวทั้งในด้านการค้าและการลงทุน