
วันนี้ (18 พ.ย.67) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และแนวโน้มปี 2567-2568 ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 67 ขยายตัว 3.0% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 2.2% ในไตรมาส 2 ปี 67 รวม 9 เดือนแรกของปี 67 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.3%
ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 67 คาดว่าจะขยายตัว 2.6% ปรับตัวดีขึ้นจาก 1.9% ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 0.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 2.5% ของจีดีพี
“จีดีพี 3% ส่วนหลักๆ มาจากการลงทุนที่เร่งขึ้น ขณะเดียวกัน การผลิตภาคต่างๆ ยังขยายตัวได้ ส่วนหนึ่งคือเรื่องฐานที่สูงในปีก่อนมีผลในระดับหนึ่ง ในการคำนวนจีดีพี เนื่องจากหากเทียบไตรมาสนี้เมื่อเทียบกับปีก่อน ตัวฐานมีผลในระดับหนึ่ง อีกทั้งภาคการส่งออกยังขยายตัวได้ดีช่วงที่ผ่านมา”นายดนุชากล่าว

นายดนุชากล่าวว่า โดยในไตรมาสที่ 3/67 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้จากการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวได้ครั้งแรกในรอบ 6 เดือน การส่งออกสินค้า และบริการ และการอุปโภคภาครัฐยังขยายตัวในเกณฑ์สูง
โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ 3.4% การใช้จ่ายในภาคบริการขยายตัวได้ 6.5% สาขาก่อสร้างขยายตัวได้ 15.5% การส่งออกสินค้า และบริการขยายตัวถึง 10.5% การนำเข้าสินค้า และบริการขยายตัวได้ 9.6%
สำหรับรายได้ของการท่องเที่ยวในปี 67 คาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท และเพิ่มขึ้นในปีต่อไป
สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทยอัตราว่างงานอยู่ที่ 1.02% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.6% ดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ที่ 2.0 พันล้านดอลลาร์ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 2.43 แสนล้านดอลลาร์ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนก.ย.อยู่ที่ 11.63 ล้านล้านบาท 63.3% ของจีดีพี
“คาดการณ์ไตรมาส 4/67 คาดว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ แต่จะขยายตัวเท่าไหร่ยังตอบไม่ได้ ยืนยันขยายตัวต่อเนื่อง”นายดนุชากล่าว

นายดนุชากล่าวว่า ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 68 คาดว่าจะขยายตัว 2.3% – 3.3% (ค่ากลางของการประมาณ การอยู่ที่ 2.8%) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1.การเพิ่มขึ้นของรายจ่ายภาครัฐ 2.การขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศ 3.การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว และ 4.การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า
ขณะที่ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง อาทิ 1.ความเสี่ยงการขยายตัวต่ำกว่าที่คาดของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน 2.ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง และ 3.แนวโน้มความผันผวนในภาคการเกษตรทั้งผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร
ทั้งนี้ คาดว่า ในปี 68 การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 3% และ 2.8% ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2.6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.3 – 1.3% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.6% ของจีดีพี
