วันนี้ (16 ม.ค.68) นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อ “Challenges Facing ASEAN in the Age of Disruption” ในงานสัมมนา “AEC Business Forum 2025” ว่า เศรษฐกิจในระยะต่อไปอาจเจอความท้าทายที่มากขึ้นที่จะมาเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยการเปลี่ยนแปลงจะมาในรูปแบบ New Wave Investment into Asean ซึ่งจะเกิดเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
นายกอบศักดิ์กล่าวว่า หากย้อนในอดีตท่ามกลางวิกฤติมากมาย แต่ตัวเลขการลงทุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ประมาณปี 2523-2533 เคยมีการลงทุนที่เข้าสู่อาเซียน เช่น ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์
สำหรับไทย ถือว่าอยู่ลำดับต้นๆ ของโลก ซึ่งมีการลงทุนอยู่ที่ 6% ปัจจุบันเพิ่มขึ้น 17% เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งปี 2565 ตัวเลขการขอส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เยอะสูงสุดในรอบทศวรรษ (10 ปี) มีมูลค่ามากกว่าล้านล้านบาท ซึ่งบ่งบอกว่าไทยกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงรอบใหม่
และคาดว่าในอีก 3-5 ปีข้างหน้า หากการลงทุนที่เกิดขึ้นสร้างเสร็จเป็นรูปธรรมแล้ว ซึ่งภาพรวมการพลิกโฉมดังกล่าว สนับสนุนให้ภูมิภาคอาเซียนจะก้าวเป็นอันดับ 4 ของโลก ด้วยมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นถึง 6.7 ล้านล้านดอลลาร์ จาก 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน ขณะที่ประชากรจาก 38 ล้านคน เพิ่มเป็น 160 ล้านคน ส่งผลให้เกิดเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน ความท้าทายที่ทุกประเทศอาเซียนกำลังเผชิญอยู่แบ่งเป็น 2 ส่วน คือระยะสั้นและระยะยาว ส่วนที่เป็นเรื่องระยะสั้นๆ มี 3 เรื่อง ได้แก่ 1.นโยบายของสหรัฐฯ ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เพิ่มข้อกีดกันทางการค้า สร้างกำแพงภาษีนำเข้าให้สูงขึ้น โดยเฉพาะจากจีน
2.การเกิดขึ้นของคู่แข่งใหม่ๆ ที่มีต้นทุนต่ำและสินค้าราคาถูกหลั่งไหลเข้ามาในไทยและภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น และ 3.การนำปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาใช้เพื่อการผลิตสินค้าและบริการ
นอกจากนี้ โจทย์ในระยะยาวมี 3 ข้อ 1.มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป 2.ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่จะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจในระยะยาวไปสู่การทำธุรกิจแบบมีความรับผิดชอบ เพื่อความยั่งยืนมากขึ้น 3.การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
ขณะที่เศรษฐกิจไทยประเมินว่าปี 2568 จะขยายตัวได้ 3% โดยได้รับแรงสนับสนุนจาก 4 ด้านหลักๆ คือ 1.การส่งออกที่จะกลับมาขยายตัวได้มากขึ้น 2.การท่องเที่ยว คาดว่านักท่องเที่ยวจะเข้ามาถึง 40 ล้านคน จากปี 2567 ที่มีจำนวน 35 ล้านคน 3.การลงทุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และ 4.การสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐบาล
ดังนั้น จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ธุรกิจต้องเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดรับโอกาสท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน โดยจะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศ
ขณะที่ภาคธุรกิจต้องกล้าที่จะปรับตัว เข้าใจถึงความท้าทายและเป้าหมายความต้องการ และสุดท้ายคือสถาบันการเงิน ที่จะคอยสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการเปลี่ยนผ่าน รวมทั้งองค์ความรู้ให้กับลูกค้าอย่างใกล้ชิด
“อย่าไปกลัวว่ากระแสการลงทุนจะไม่ไหลเข้าประเทศไทย หรือแม้จะไหลไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ไทยก็จะได้ประโยชน์จากการเข้ามาลงทุนในอาเซียนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เนื่องจากปัจจุบันเราสามารถเชื่อมโยงการค้าระหว่างกันได้โดยง่ายและสะดวกมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือธุรกิจต้องมีปรับตัวและมีความพร้อมทันต่อโอกาสที่จะเข้ามา”นายกอบศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพเองในฐานะสถาบันการเงิน เราไม่เพียงแต่สนับสนุนสินเชื่อสีเขียวเพื่อการเปลี่ยนผ่าน หรือการทำ Digital Tranformation เพียงเท่านั้น
“แต่ธนาคารยังให้การสนับสนุนองค์ความรู้ อัปเดตข้อมูลเชิงลึก เทรนด์การค้าทั้งของไทยและของโลก ให้แก่ลูกค้าอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง เพื่อเคียงข้างลูกค้าสร้างความมั่นใจในการปรับตัวคว้าโอกาสทางธุรกิจได้อย่างมีศักยภาพและยั่งยืน” นายกอบศักดิ์ กล่าว