ช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ เศรษฐกิจไทยได้พลิกผันไปตามสถานการณ์โลก โดยเฉพาะ “ภาคอุตสาหกรรม” ที่ต้องเผชิญกับความท้าทาย และการเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่ยุคเทคโนโลยี ภายใต้นวัตกรรมชั้นสูง ที่มีรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง
ทำให้ผู้ผลิต และผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้ทันกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ไม่ได้ผลเฉพาะความอยู่รอดของธุรกิจเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความเป็นความตายของเศรษฐกิจไทย ที่ฝากไว้กับอนาคต
กระแสการเกิดเทคโนโลยี พร้อมกับนวัตกรรมสุดล้ำ สนับสนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความขัดแย้งจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ทวีความรุนแรง กระตุ้นเกิดสงครามการค้า ซ้ำร้ายกระทบถึงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ธุรกิจต้องหาทางรอดให้กับอุปสรรคนี้
จากจุดนี้ จึงกลายเป็นการเปลี่ยนแปลง ครั้งยิ่งใหญ่ของ “นักลงทุนทั่วโลก” ที่ต้องลี้ภัยจากความเสี่ยงดังกล่าว ที่กำลังส่งผลเลวร้ายต่อธุรกิจ ต่างต้องหิ้วกระเป๋าจับทิศและตั้งถิ่นฐานใหม่ โดยหนึ่งในนั้น คือ “ประเทศไทย” หมุดหมายการลงทุนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยศักยภาพทั้งในเรื่องการคมนาคมขนส่ง ระบบโครงสร้างพื้นฐาน พลังงานและแรงงาน
ทั้งหมดนี้ เรียกว่า “ยุทธศาสตร์ไทยเป็นที่หมายใหม่แห่งการลงทุน” มุมมองของ “นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรม การส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)” ให้สัมภาษณ์พิเศษกับทัมข่าวเศรษฐกิจเพจอีจัน สะท้อนให้เห็นผลงานของบีโอไอ ในช่วงตลอดระยะเวลา 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.67) มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 2,195 โครงการ เพิ่มขึ้น 46% เมื่อเทียบกับปีก่อน มูลค่าเงินลงทุนรวม 722,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% ถือเป็นยอดลงทุนสูงสุดในรอบ 10 ปีเลยทีเดียว
ซึ่งประเด็นสำคัญทำให้การลงทุน 9 เดือนแรกปีนี้ น่าจับตามองนั้น นอกจากเม็ดเงินสูงแล้ว ยังเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ 3 อุตสาหกรรมหลักที่อยู่ในช่วงการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ในไทย
ประกอบด้วย 1.ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ชิ้นส่วนและแบตเตอรี่ 2.เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง และ 3.เทคโนโลยีดิจิทัล ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่ง 70%-80% เป็นโซนเอเชีย โดยอันดับ 1 คือ สิงคโปร์, จีน, ฮ่องกง, ไต้หวัน และญี่ปุ่น เลขาธิการฯ บีโอไอ กล่าวและกล่าวต่อว่า
“จากสถิติที่ปรากฏว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทย สูงสุดที่สุดแล้วก็ตาม แต่หากเจาะลึกลงไป ความจริงคือ บริษัทของสิงโปร์นั้น มีบริษัทแม่ ที่มาจากจีนและสหรัฐฯ อยู่ในนั้น และการลงทุนดังกล่าว อยู่ในกลุ่มธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขการลงทุนเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว เราพบว่า การลงทุนของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 70% ขณะที่ จีน เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว”
ดังนั้น Position หรือวางตำแหน่งของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา คือ บทพิสูจน์ว่า ประเทศไทยมีความเป็นกลาง ท่ามการความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจ และของโลก ทำให้ไทยเป็นพื้นที่ไร้ความขัดแย้ง (Conflict-Free Zone) หรือเป็นเซฟโซนนักลงทุน ที่พร้อมรองรับการลงทุนทั้งจากตะวันตก ตะวันออก และเอเชีย
อีกทั้ง นโยบายรัฐบาลก็มีมาตรการที่เอกชนมองว่าเป็นจุดแข็งทำให้เกิดการลงทุน เช่น มาตรการสนับสนุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และการเป็นฮับทางด้านเทคโนโลยีขั้นสูง เป็นต้น
ไทยยืนหนึ่ง ฐานผลิตอีวีพวงมาลัยขาว
เลขาธิการบีโอไอ เล่าต่อว่า ไทยโดดเด่นหลายด้าน ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม ระบบโลจิสติกส์ รวมถึงการมีซัพพลายเชนครบวงจรของอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ จนได้รับการตอบรับที่จากนานาประเทศในฐานะผู้ผลิตวัตถุดิบและชิ้นส่วนของอุตสาหกรรมหลากหลายประเภคที่ดีที่สุด แห่งหนึ่งในภูมิภาค
ยกตัวอย่างเช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรม EV โดยบีโอไอได้ทำงานร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน ภายใต้คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (อีวีบอร์ด) ออกมาตรการสนับสนุนเพื่อแจ้งเกิดอุตสาหกรรมอีวีอย่างรอบครบวงจร มีทั้งการผลิตรถยนต์ การผลิตแบตเตอรี่ และแผงวงจรไฟฟ้าในประเทศ โดยรัฐบาลได้ไฟเขียวให้ดำเนินโครงการดังกล่าว ตั้งแต่ 2-3 ปีที่แล้ว ส่งผลปัจจุบัน บีโอไอ ได้ส่งเสริมอุตสาหกรรม EV ไปแล้ว คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 80,000 ล้านบาท
“ผมคิดว่า ปัจจุบันไทยเราเป็นฐานการผลิต EV เรียบร้อยแล้ว เพราะค่ายรถยนต์ของจีนและรายใหญ่ๆ ของโลกได้เข้ามาตั้งฐานผลิตในไทยเกือบหมดแล้ว เช่น GWM, NETA และ MG”
ดังนั้น การลงทุน อุตสาหกรรม EV ที่มีมูลค่าหลายแสนล้านบาทนั้น บีโอไอ ไม่ได้มองแค่ว่า ไทยเป็นเพียงแค่ผู้ผลิต EV เท่านั้น แต่ว่า ไทยกำลังจากกลายฐานการผลิต EV อันดับ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 10 ของโลก การตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถ EV เพื่อการส่งออก โดยเฉพาะรถพวงมาลัยขวาจึงมีความเป็นไปได้สูง เลขาธิการฯ บีโอไอ กล่าว
และยังชี้ให้เห็นว่า “เราก็ไม่ได้ปิดโอกาสสำหรับรถพวงมาลัยซ้าย เพราะเปลี่ยนไลน์ผลิตจากข้างขาวเป็นข้างซ้ายนั้น ไม่ได้ยากอย่างที่คิด”
บีโอไอเร่งปั้นฮับอุตฯ ไฮเทคฯ
ส่วนด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยี หรือ ไฮเทค เนื้อหอมไม่แพ้ EV เลขาธิการฯ บีโอไอ กล่าวต่อไปว่า การตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ หรือ “ศูนย์ข้อมูล” เพื่อรองรับฮาร์ดแวร์ หรือเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่นั้น ล่าสุด บีโอไอได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมดังกล่าวไปแล้ว 46 โครง การ เงินลงทุนรวมมากกว่า 160,000 ล้านบาท โดย 9 เดือนปี 67 ส่งเสริมไป 8 โครงการใหญ่ มูลค่ารวมกันมากกว่า 90,000 ล้านบาท
และหากพูดถึงดาต้าเซ็นเตอร์ระดับไฮเปอร์สเกล หรือดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ระดับโลก ขณะนี้ มี 2 ราย ที่ประกาศลงทุนในประเทศไทยอย่างชัดเจนแล้ว คือ อะเมซอน (Amazon) จะลงทุนในไทย 200,000 ล้านบาท ช่วงอีก 15 ปีข้างหน้า ซึ่งเฟสแรกจะสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ 3 แห่ง ที่ชลบุรี และระยอง มูลค่ามากกว่า 24,000 ล้านบาท
ขณะที่ กูเกิ้ล (Google) จะลงทุนสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่มูลค่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 30,000 ล้านบาท ส่วนไมโครซอฟต์ (Microsoft) ก็จะสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา และหวังว่า อีกไม่นานจะสามารถประกาศตัวเลขการลงทุนได้
“เอสเอ็มอี” คือหัวใจของนักลงทุน
นอกจากนี้ บีโอไอยังให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) ไม่มีความแตกต่างจากนักลงทุนรายใหญ่ หรือนักลงทุนจากต่างประเทศ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บีโอไอได้ส่งเสริมการลงทุนแก่เอสเอ็มอี มากกว่า 4,000 บริษัท ในจำนวนนี้ ยังเป็นการส่งเสริมลงทุน ทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรมการผลิต และภาคบริการ
โดยมีมาตรการพิเศษให้กับเอสเอ็มอี ซึ่งปกติให้การลงทุนขั้นต่ำที่ 1 ล้านบาท แต่เอสเอ็มอีลดเหลือ 500,000 บาท และอนุญาตให้มีการใช้เครื่องจักรเก่า มูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาทใช้ในโครงการ รวมถึงให้ผ่อนผันเกณฑ์อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนจดทะเบียนด้วย เพื่อเพิ่มแต้มต่อทางธุรกิจเป็นพิเศษอีกด้วย
สุดท้ายนี้ จากตัวเลขการลงทุนเกิดขึ้น จะเห็นได้ว่า บีโอไอให้ความสำคัญทางด้านคุณภาพของโครงการ มากกว่าเม็ดเงินรวม ถึงประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับ เช่น 9 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ โครงการที่ได้รับการส่งเสริมไปแล้ว ก่อให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 170,000 ตำแหน่ง มีการใช้วัตถุดิบในประเทศมากกว่า 800,000 ล้านบาทต่อปี และสร้างมูลค่าการส่งออกมากกว่าปีละ 2 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ บีโอไอยังอยู่ระหว่างทำมาตรการเกี่ยวข้องกับภาคเกษตร เพื่อส่งเสริมการลงทุนที่กระจายตัวไปสู่ภูมิภาคต่างๆ มากขึ้น จากเดิมที่เน้นไปที่ภาคตะวันออกและภาคกลางมากกว่า 80% รองลงมาเป็นภาคเหนือ อีสานและภาคใต้ โดยจะผลักดันด้านเทคโนโลยีเทคโนโลยีชีวภาพในพื้นต่างๆ ให้มากขึ้น