อุ๊งอิ๊ง ขอ ธปท.ลดดอกเบี้ย หลังแบงก์หนืดปล่อยกู้ SME

“อุ๊งอิ๊ง” ขอ “แบงก์ชาติ” ลดดอกเบี้ย หลังภาคเอกชนลงทุนลงทุนหด พบ “เอสเอ็มอี” กู้ยาก เหตุ “แบงก์พาณิชย์” หนืดปล่อยกู้ ด้าน “ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ” ชี้ กนง.คงดอกเบี้ยกรอบ 1.75-2% ทั้งปี’68

วานนี้ (19 ก.พ.68) เวลา 20.00 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์ X (ทวิตเตอร์) Ing Shin โดยเผยแพร่อินโฟกราฟฟิกเกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 1/2568 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย จังหวัดสงขลา ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

มติที่ประชุม ครม. เปิดเผยรายละเอียดการรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2567 ที่ขยายตัว 3.2% แม้จะเติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่พบการลงทุนภาคเอกชนหดตัว จากปัจจัยสำคัญ คือ ภาคเอกชนไม่มีสภาพคล่องเพียงพอจะลงทุน

ดังน้ัน ครม.มีมติขอให้ ธปท.พิจารณาลดดอกเบี้ย เพื่อลดภาระให้กับประชาชน รวมถึงขอให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาเรื่องการปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้น เพื่อให้ภาคประชาชนและเอกชน โดยเฉพาะธุรกิจรายย่อย (เอสเอ็มอี) นำเงินไปลงทุนได้

น.ส.แพทองธาร ได้แถลงภายหลังการประชุม ครม.สัญจร ว่า จีดีพีไตรมาส 4/67 เติบโตขึ้นเกือบทุกมิติ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนลดลง ปัจจัยสำคัญมาจากเอสเอ็มอี ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 75% ของประเทศ  และธนาคารพาณิชย์มีการปล่อยสินเชื่อต่ำ

เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาธุรกิจต่างๆ ของภาคเอกชนลดน้อยลง บางอุตสาหกรรมเปิดกิจการมานานแล้ว พอไม่ได้เงินสินเชื่อในการพัฒนา ภาครัฐจึงพยายามทำในทุกๆ เรื่อง เพื่อสนับสนุนกระตุ้นเศรษฐกิจให้เอกชนมีการลงทุนเพิ่มเติม จึงจำเป็นต้องให้การเงิน การคลัง ทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์ให้ประชาชนได้รับประโยชน์

อย่างที่ได้บอกไปเรื่องของสินเชื่อ รัฐบาลต้องคุยกับ ธปท. เพื่อร่วมมือกัน รัฐบาลจำเป็นต้องทำต่อ นอกจากการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวแล้วการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาคเอกชนต้องดูด้วยว่าก่อนที่จะลงทุนเพิ่มในระบบทำได้อย่างไรบ้าง จะต้องย้อนกลับมาในเรื่องของการเงินด้วย“น.ส.แพทองธารกล่าว

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ด้านการปล่อยสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ ตัวเลขสอดคล้องกับข้อมูลที่ ธปท.รายงานภาพรวมสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2567 หดตัว -0.4% ถือเป็นการติดลบสูงสุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ปี 2552 และเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากปี 2566 ที่สินเชื่อหดตัว -0.3%

โดยพอร์ตสินเชื่อแบ่งเป็น สินเชื่อธุรกิจ อยู่ที่ 0.5% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ -2.7% เป็นผลมาจากสินเชื่อรายใหญ่ที่ขยายตัว 2% หากรวมสินเชื่อภาครัฐจะขยายตัว 3.4% ขณะที่สินเชื่อธุรกิจรายย่อย (เอสเอ็มอี) -5.0% จากไตรมาสก่อนที่ -5.7%

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ขณะเดียวกัน ในการพิจารณาอัตราลดดอกเบี้ยนโยบายนั้น คณะกรรมการนโยยายการเงิน (กนง.) มีกำหนดการประชุมนัดแรกของปี 2568 ในวันพุธที่ 26 ก.พ.68 นี้

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง 0.25% ในเดือน ก.พ.68 ไปอยู่ที่ 2% และคงไปตลอดช่วงที่เหลือของปี แม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันอาจยังไม่ได้มีปัจจัยกดดันชัดเจนที่ทำให้ กนง. ต้องเร่งปรับลดดอกเบี้ย

แต่ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมาก ทั้งจากความเปราะบางภายในและความท้าทายภายนอก นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ และลดผลกระทบภาวะการเงินตึงตัวต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้บ้าง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ธปท.มีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมในปี 2568 อีก 2 ครั้ง ลงมาอยู่ที่ราว 1.75% ณ สิ้นปี 2568 เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมถึงความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่เผชิญความไม่แน่นอนสูงขึ้นและมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายของธปท. ที่ 1-3% อย่างต่อเนื่อง