
นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ผลไม้ภาคตะวันออก พร้อมทั้งพบปะพี่น้องเกษตรชาวสวนผลไม้ และผู้ประกอบการผลไม้ส่งออก เพื่อรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกผลไม้ รวมถึงอุปสรรคการส่งออกผลไม้จากภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นางสาวภัทราภรณ์ โสเจยยะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และพี่น้องเกษตรกรชาวสวนผลไม้ ร่วมลงพื้นที่ ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี


รมช.อิทธิ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการติดตามสถานการณ์การส่งออกทุเรียนไปสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งได้ประกาศ “SET ZERO” การใช้สารเคมีในโรงคัดบรรจุทั้งหมด เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยมอบหมายกรมวิชาการเกษตร ขับเคลื่อนภารกิจด้านการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมองค์ความรู้เกษตรกร เรื่อง มาตรการป้องกันสารปนเปื้อน Basic Yellow 2 “Big Cleaning” ทุกสวน โรงรวบรวม/โรงคัดบรรจุ เพื่อเตรียมความพร้อมทำความสะอาดโรงคัดบรรจุ และป้องกันการปนเปื้อนสาร Basic Yellow 2 (BY2) ในทุเรียนผลสดก่อนเปิดฤดูกาลทุเรียนตะวันออก ซึ่งประกอบด้วย 7 มาตรการ ดังนี้


1.ไม่ใช้สารห้ามใช้ในกระบวนการผลิตทุเรียน
2.เปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตทุเรียนเพื่อป้องกันการปนเปื้อน เช่น พาเลท ภาชนะบรรจุ ตะกร้า ฯลฯ
3.ทำความสะอาดอุปกรณ์ เช่น พัดลม และพื้นที่บริเวณผลิตก่อนและหลังการผลิต
4.น้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตมีความสะอาด
5.ทำความสะอาดตู้คอนเทนเนอร์ก่อนบรรจุทุกครั้ง
6.การสุ่มเก็บตัวอย่าง และส่งไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบการปนเปื้อน
7.กล่องกระดาษบรรจุตัวอย่างต้องปิดช่องสนิทเพื่อป้องกันการปนเปื้อนข้ามระหว่างส่งตัวอย่าง

นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบคุณภาพผลไม้ส่งออกในทุกตู้คอนเทนเนอร์แบบ 100% รวมถึงการตรวจสารแคดเมียม และหนอนในทุเรียน พร้อมทั้งเตรียมขยายผลไปยังการตรวจสอบร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภาคการเกษตร เพื่อป้องกันการปนเปื้อนทั้งระบบการผลิต และการตรวจสอบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในลำไย เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพผลไม้ให้แก่ผู้บริโภคทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ทั้งนี้ หากมีการตรวจพบการกระทำความผิดจะดำเนินการตามบทลงโทษ ตามประกาศกรมวิชาการเกษตรที่เกี่ยวข้องทันที

ขอให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนทุเรียน และผู้ประกอบการทุกท่านมั่นใจและคลายข้อกังวลเกี่ยวกับการส่งออกทุเรียนไปสาธารณรัฐประชาชนจีน เนื่องจากกระทรวงฯ ได้มีการติดตามสถานการณ์และติดต่อเจรจาร่วมกับ GACC ในเรื่องมาตรการตรวจสอบและแนวทางการปฏิบัติเพื่อส่งออกทุเรียนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดย กรมวิชาการเกษตรได้ออกมาตรการ “Big Cleaning” เพื่อทำความสะอาดทุกสวนทุกโรงคัดบรรจุ รวมถึงมาตรการ “4 ไม่” เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประเทศคู่ค้า นอกจากนี้ ยังได้ประสานความร่วมมือกับห้องปฏิบัติการกว่า 8 แห่ง ให้มีการเตรียมพร้อมรองรับการตรวจสอบทุเรียนตะวันออกในช่วงพีคของฤดูกาล โดยมาตรการและแนวทางการปฏิบัติต่าง ๆ มีเป้าหมายสำคัญ คือ การสร้างมั่นใจในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร และรักษามาตรฐานผลไม้ไทยให้แก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงเพื่อเปิดโอกาสการส่งออกผลไม้จากเกษตรกรและผู้ประกอบการส่งออกไทยอีกด้วย

ด้านนายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเสริมว่า กรมวิชาการเกษตรได้ออก ประกาศมาตรการควบคุมการปนเปื้อนสารห้ามใช้ในทุเรียนผลสดส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2568 ประกาศเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2568 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 68 ที่ผ่านมา ซึ่งเตรียมเดินหน้าแนวทางปฏิบัติตามมาตรการโรงคัดบรรจุพื้นที่ภาคตะวันออกเช่นเดียวกับทางภาคใต้ พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบใบรายงานผลการทดสอบ Basic yellow 2 (Test Report) ในเนื้อและเปลือก ต้องตรวจไม่พบหรือ Not Detected และ Cadmium ในเนื้อ (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 0.05mg/kg) จึงจะออกใบรับรองสุขอนามัยพืช : PC ได้ ซึ่งปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการที่ได้รับรองการตรวจสอบคุณภาพในการทดสอบสาร Basic Yellow 2 (BY2) และตรวจสอบศัตรูพืชและข้อกำหนดอื่น ๆ ตามข้อตกลงพิธีสารไทย-จีนจากกรมวิชาการเกษตรและ GACC จำนวน 8 แห่ง และอยู่ระหว่างการลงทะเบียนห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พี่น้องเกษตรกรในการตรวจสอบตัวอย่างทุเรียนตะวันออกที่กำลังจะถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวช่วงเดือนมีนาคมนี้

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรชาวสวน และผู้ประกอบการส่งออกปฏิบัติตาม มาตรการ 4 ไม่ ได้แก่ 1.ไม่อ่อน 2.ไม่หนอน 3.ไม่มีสวมสิทธิ์ และ 4.ไม่สีไม่มีสารเคมีต้องห้าม เพื่อรักษาคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัยทุเรียนไทย และยกระดับคุณภาพผลไม้ไทยในตลาดผลไม้โลก อีกด้วย

