สภาผู้ส่งออก ผวาสินค้าจีนทะลักไทย หนี “ทรัมป์” รีดภาษีดุ

เดือดร้อนทุกจุด! “สภาผู้ส่งออก” ผวาสินค้าจีนทะลักเข้าไทยท่วม เหตุหนี “ทรัมป์” รีดภาษีดุ หวัง “รัฐบาล” ร่วมต้าน พร้อมแนะปิดช่องทางจีนเทา-อัดสินค้าเถื่อน หนุนแข่งขันในประเทศแกร่ง

วันนี้ (24 เม.ย.68) นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า สภาผู้ส่งออกได้สำรวจความเห็นของผู้ส่งออกที่เป็นสมาชิกและหารือร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมส่งออก ระหว่างวันที่ 9-22 เม.ย.68

พบว่าผู้ส่งออกได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน ทั้งกลุ่มที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางบวก อาทิ คำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ถูกเร่งรัดการส่งมอบสินค้าให้เร็วขึ้น และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางลบ อาทิ คำสั่งซื้อสินค้าลดลง ยกเลิกคำสั่งซื้อ และลูกค้าผลักภาระต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้นให้กับผู้ส่งออก เป็นต้น

ซึ่งการรับมือของผู้ประกอบการในปัจจุบันประกอบด้วย การเจรจากับลูกค้าเพื่อแบ่งความรับผิดชอบต่อภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น ทั้งการปรับลดราคาสินค้ากรณีลูกค้าเป็นผู้ชำระค่าภาษี และการขอขึ้นราคาสินค้ากรณีผู้ส่งออกไทยเป็นผู้ชำระภาษี การชะลอรับคำสั่งซื้อเพื่อดูสถานการณ์ เนื่องจากอัตรากำไรของสินค้าไม่เพียงพอต่อการจ่ายหรือการช่วยจ่ายภาษีให้กับลูกค้า และการหาตลาดอื่นทดแทน เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ส่งออกกว่า 88.9% ระบุว่าไม่มีการลงทุนและไม่มีแผนหรือความต้องการลงทุนในสหรัฐ เนื่องจากต้นทุนจะสูงขึ้นมาก และ 11.1% ระบุว่ามีบริษัทแม่หรือบริษัทในเครือตั้งอยู่ในสหรัฐแล้ว ขณะที่มีผู้ประกอบการเพียง 31.6% ที่มีการนำเข้าวัตถุดิบจากสหรัฐ อาทิ ถั่วเหลือง เครื่องจักรและอุปกรณ์ เม็ดพลาสติก และวัตถุดิบอาหารสัตว์ เป็นต้น เนื่องจากมีแหล่งวัตถุดิบอื่นที่ราคาถูกกว่า และใช้วัตถุดิบภายในประเทศ

นอกจากนี้ สภาผู้ส่งออกขอให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังสินค้าจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก Reciprocal Tariffs ซึ่งมีแนวโน้มทะลักเข้ามาในประเทศไทยและเป็นคู่แข่งไทยในตลาดโลก

โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ของเล่น เครื่องเล่นเกม ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องเสียงและเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ภาชนะบนโต๊ะอาหาร ผลิตภัณฑ์พลาสติก เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน รถโดยสาร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนังและรองเท้า เป็นต้น ซึ่งประเทศจีนมีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เป็นสัดส่วนที่สูงมาก และต้องการหาตลาดทดแทน

จึงเห็นว่าประเทศไทยควรพิจารณาดำเนินการมาตรการ เพื่อป้องกันการนำเข้าและการเข้ามาลงทุนผลิตในประเทศ แบ่งเป็น

1. ข้อเสนอมาตรการต้านการนำเข้าสินค้าด้อยคุณภาพ โดยสิ่งที่ต้องกำกับดูแลตั้งแต่ในประเทศต้นทาง อาทิ สินค้าและโรงงานต้องได้รับการรับรองมาตรฐานของประเทศไทย สินค้าต้องระบุพิกัดให้ชัดเจนเพื่อให้ศุลกากรไทยสามารถตรวจสอบได้ง่ายขึ้น ผู้ส่งออกที่ขายผ่าน e-Commerce Platform ต้องระบุ ID Number ให้ชัดเจนไม่ซ้ำซ้อน และเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบฝ่ายไทย อาทิ ตรวจสอบสินค้านำเข้า 100% เพื่อป้องกันสินค้าด้อยคุณภาพเข้าประเทศ ตรวจสอบสินค้าผ่าน Free Zone 100% เพิ่มความเข้มงวดในการคุ้มครองผู้บริโภคจากสินค้านำเข้าด้อยคุณภาพ

2. ข้อเสนอมาตรการต้านการลงทุนศูนย์เหรียญ ประกอบด้วย ทบทวนสิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สำหรับการลงทุนใหม่ ให้เป็นธรรมในการแข่งขันกับผู้ผลิตในประเทศ และให้ใช้วัตถุดิบภายในประเทศไม่น้อยกว่า 40% เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในประเทศ มากกว่าเม็ดเงินลงุทนและมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจในประเทศไทย และกำหนดเงื่อนไขกิจการร่วมลงทุนที่ต้องการรับสิทธิประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุน

อาทิ ต้องมีคนไทยเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์ความรู้ อย่างแท้จริงสู่ภาคการผลิตในประเทศ กำหนดให้กิจการที่ได้รับการส่งเสริมมีสัดส่วนการจ้างแรงงานไทยไม่น้อยกว่า 50% เพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงานภายในประเทศ

3.ข้อเสนอมาตรการด้านการส่งเสริมค้าระหว่างประเทศ โดยต้องอัดฉีดงบประมาณสำหรับ “การจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ” และ “งบฯสนับสนุนด้านการตลาดแก่ภาคเอกชน” อาทิ SMEs Proactive ให้มากขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าไทยในสายตาคู่ค้าและผู้บริโภคในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งสภาผู้ส่งออกประเมินว่ามีรายการสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐเป็นจำนวนมาก และสามารถหาตลาดทดแทนได้ อาทิ อาหารสัตว์เลี้ยง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักร เครื่องปรับอากาศ ข้าว อาหารทะเลกระป๋อง ยางธรรมชาติ มอนิเตอร์และโปรเจ็กเตอร์ ถุงมือทางการแพทย์ น้ำผักและน้ำผลไม้ เป็นต้น

ภาครัฐจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณสำหรับจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกเพื่อช่วยให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักในสายตาคู่ค้าและผู้บริโภคทั่วโลก อาทิ เพิ่มการจัดงานแสดงสินค้า (Trade Exhibition) ในประเทศ เพิ่มการเข้าร่วมจัด Thailand Pavillion ในงานแสดงสินค้าหลักในต่างประเทศ เพิ่มงบประมาณโครงการ SMEs Proactive เพื่อให้ SMEs สามารถเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศด้วยตนเอง และให้ข้อมูลคู่ค้าในประเทศเป้าหมายเพื่อนำเสนอสินค้าให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย

ทั้งนี้ เพื่อให้การทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องมีทิศทางที่ชัดเจน สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย จึงได้ตั้งเป้าหมายผลักดันยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อสร้างความมั่งคั่งสู่ประเทศ หรือ Long-Term Strategy for Thailand’s National Wealth Development เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

รวมถึงเพื่อให้ผู้ส่งออกไทยมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ผ่าน 6 แนวทางสำคัญ ประกอบด้วย-

  • การวางตำแหน่งทางภูมิเศรษฐกิจ และการสร้างพันธมิตรกลุ่มประเทศ เพื่อส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในเวทีการค้าโลก
  • การจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับกลุ่มประเทศเป้าหมาย
  • การบริหารกลยุทธ์การค้าทั้งสินค้าและบริการอย่างบูรณาการ
  • การปฏิรูประบบสิทธิประโยชน์บีโอไอ โดยยึดประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก
  • การพิจารณาสิทธิประโยชน์ตามประเภทอุตสาหกรรมกำหนดหลักเกณฑ์สิทธิประโยชน์ตามสถานะของอุตสาหกรรมในประเทศ
  • การส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนไทยในต่างประเทศ

พร้อมทั้งแต่งตั้งรองประธานเพื่อผลักดันการดำเนินงานผ่าน 6 คณะกรรมการสำคัญ ได้แก่ 1) คณะกรรมการ Trade Environment 2) คณะกรรมการร่วมรัฐเอกชนด้านโลจิสติกส์และเศรษฐกิจดิจิทัล 3) คณะกรรมการ Maritime Transport 4) คณะกรรมการกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร

5) คณะกรรมการกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม และ 6) คณะกรรมการกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ เพื่อให้สามารถประสานการทำงานอย่างใกล้ชิดกับสมาชิกซึ่งเป็นผู้ส่งออกจากทุกกลุ่มสินค้าในการแก้ไขปัญหาและผลักดันข้อเสนอแนะที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมไปสู่ภาครัฐและภาคที่เกี่ยวข้อง