
นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานติดตามแก้ไขปัญหาการส่งออกทุเรียนย้อมสีไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ครั้งที่ 6/2568 ณ ห้องประชุม 134 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ติดตามความก้าวหน้าตามมาตรการควบคุมการปนเปื้อนสารห้ามใช้ในทุเรียนผลสดส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างใกล้ชิด โดยเดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการป้องกันสารปนเปื้อน Basic Yellow 2 หรือ BY2 “Big Cleaning” เพื่อทำความสะอาดทุกสวนทุกโรงคัดบรรจุทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมป้องกันการปนเปื้อนสาร BY2 ในทุเรียนผลสดก่อนเปิดฤดูกาลทุเรียนตะวันออก รวมทั้งมาตรการ “4 ไม่” ได้แก่ 1.ไม่อ่อน 2.ไม่หนอน 3.ไม่มีสวมสิทธิ์ และ 4.ไม่สีไม่มีสารเคมีต้องห้าม เพื่อรักษาคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัยทุเรียนไทย และสร้างความมั่นใจให้กับประเทศคู่ค้า ตลอดจน กรมวิชาการเกษตร ได้จัดทำคู่มือการปฏิบัติงาน (SOP) การควบคุมการปนเปื้อนสารห้ามใช้ ประชาสัมพันธ์ให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ ได้นำไปใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติงานให้เป็นไปในทิศทางแนวทางเดียวกันอีกด้วย

กระทรวงเกษตรฯ ขอให้ความมั่นใจกับพี่น้องชาวสวนทุเรียนว่า เราได้เตรียมความพร้อมรองรับทุเรียนภาคตะวันออกผ่านมาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการอย่างเข้มข้น โดยเน้นไปที่การ Big Cleaning และเร่งประชาสัมพันธ์ห้ามใช้สารต้องห้าม ซึ่งจากการลงพื้นที่ Big Cleaning จ.จันทบุรี เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่าเกษตรกรมีความเข้าใจเป็นอย่างดี เชื่อว่าเกษตรกร ผู้ประกอบการไม่มีใครอยากไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพราะหากตรวจพบว่ามีสารปนเปื้อน ก็ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นมูลค่าจำนวนมาก นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ยังได้ลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบในจุดต่างๆ ที่อาจจะยังมีสารปนเปื้อนตกค้างอยู่ พร้อมทั้งได้กำชับให้เร่งหาสาเหตุการตกค้างรายงานให้ที่ประชุมทราบ ซึ่งเราได้มีการรายงานให้สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ทราบอย่างต่อเนื่องด้วยแล้ว


นอกจากนี้ รมช.อิทธิ ยังได้ให้ความมั่นใจในศักยภาพการตรวจวิเคราะห์ของห้องปฏิบัติการอีกว่า ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรและจีน จำนวน 8 แห่ง และเตรียมจะเพิ่มอีก 4 แห่ง เพื่อรองรับทุเรียนตะวันออกในช่วงปลาย มี.ค. ถึงต้น เม.ย. ที่จะถึงนี้ อีกทั้ง ได้รับการยืนยันจากห้องปฏิบัติการว่า สามารถให้บริการทดสอบตัวอย่างตรวจสอบสาร BY2 และสารแคดเมียม ได้มากกว่า 2,000 ตัวอย่างต่อวัน ดังนั้น ขอให้พี่น้องเกษตรกรคลายความกังวลในช่วงพีคของฤดูกาล กระทรวงเกษตรฯ มั่นใจในการเตรียมความพร้อมรองรับทุเรียนภาคตะวันออก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคชาวจีนถึงคุณภาพและความปลอดภัยของทุเรียนไทย

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ออกประกาศวันเก็บเกี่ยวทุเรียนภาคตะวันออก ปี 2568 ดังนี้ พันธุ์กระดุม วันที่ 4 เม.ย. 68 พันธุ์พวงมณีและพันธุ์ชะนี วันที่ 10 เม.ย. 68 พันธุ์หมอนทอง วันที่ 30 เม.ย. 68 หากตัดทุเรียนก่อนวันประกาศเก็บเกี่ยว ต้องนำตัวอย่างมาตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน ณ สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน


