กต.ย้ำจุดยืน “ธนาคารไทย” ไม่ใช่แหล่งเงินค้าอาวุธให้ “รัฐบาลเมียนมา”

ย้ำจุดยืน! ก.การต่างประเทศ ออกโรงแจ้ง “ธนาคารไทย” ย้ำไม่ใช่แหล่งค้าอาวุธให้ “รัฐบาลเมียนมา” แบงก์ชาติ-ปปง. ชี้มีนโยบายชัดไม่สนับสนุนทำธุรกรรมผิดกฎหมาย!

วันนี้ (1 ก.ค.67) ภายหลังจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกรายงานฉบับใหม่ระบุว่า ‘ประเทศไทย’ กลายเป็นแหล่งจัดหาอาวุธและยุทโธปกรณ์อันดับ 1 ของรัฐบาลเมียนมา ขณะที่แบงก์ไทยก็อำนวยความสะดวกการชำระเงิน (Facilitate Payments) ของรัฐบาลทหารเมียนมาเป็นอันดับ 1 ในปี 2565

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย รวมถึงธนาคารพาณิชย์ไทยหลายแห่ง ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยธนาคารพาณิชย์ของไทยมีนโยบายชัดเจนในการไม่สนับสนุนการจัดซื้ออาวุธและสรรพาวุธกับองค์กรทางทหารของเมียนมา รวมถึงให้ความสำคัญต่อการป้องกันและห้ามนำธุรกรรมทางการเงินของภาคธนาคารไปใช้ในการจัดซื้ออาวุธที่นำไปใช้ละเมิดสิทธิมนุษยชน อนึ่ง ธุรกรรมที่เกี่ยวโยงกับเมียนมาตามที่ปรากฏในรายงานฯ นั้น เป็นจำนวนธุรกรรมเพื่อการชำระค่าอุปโภค บริโภค และพลังงาน

ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กำชับให้สถาบันการเงิน ปฏิบัติตามมาตรการคว่ำบาตรของ Financial Action Task Force (FATF) รวมถึงมาตรการตามแนวปฏิบัติของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยสถาบันการเงินจะต้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่ทำธุรกรรมเกี่ยวข้องกับประเทศที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเข้มข้น

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.67 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน ระบุว่า สำนักงาน ปปง. และ ธปท. กำชับสถาบันการเงินเรื่องการทำธุรกรรมกับประเทศที่มีความเสี่ยงสูงด้านการฟอกเงิน ตามที่ปรากฏข่าวเกี่ยวกับการทำธุรกรรมของสถาบันการเงินไทยกับประเทศเมียนมานั้น

สำนักงาน ปปง. ชี้แจงว่าได้กำชับให้สถาบันการเงินปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ประกาศ แนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องในการแสดงตนของลูกค้าและการตรวจสอบ เพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าและการทำธุรกรรมตามมาตรการที่สำนักงาน ปปง. ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด และที่ผ่านมาสถาบันการเงินให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม หากสำนักงาน ปปง. ตรวจพบว่ามีสถาบันการเงินมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้องแล้ว สำนักงาน ปปง. จะพิจารณาดำเนินการกับสถาบันการเงินนั้นตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

ด้าน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ธปท. กำชับให้สถาบันการเงินปฏิบัติตามมาตรการคว่ำบาตรของ Financial Action Task Force (FATF) และมาตรการของสำนักงาน ปปง. มาอย่างต่อเนื่อง โดยสถาบันการเงินจะต้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่ทำธุรกรรมเกี่ยวข้องกับประเทศที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเข้มข้น

โดย ธปท.พร้อมให้ความร่วมมือกับสำนักงาน ปปง. ในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน เพื่อให้มั่นใจว่าไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือถูกใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงินและสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย


คลิปอีจันแนะนำ

“2 ล้อไม่มีใครสูง ใครต่ำ” บังจูมิน บูรพา ไทยแลนด์